สลากกินแบ่งประชาชน

การซื้อหวยคือการเพิ่มโอกาสของการเป็นเศรษฐีหน้าใหม่ในทุกเดือน เดือนละ 2 รอบ เพราะสิ่งที่ต้องทำมีเพียงแค่แทงเลขให้ถูกสักงวดหนึ่งเท่านั้นแล้วชีวิตของเราก็จะไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป แม้ว่าทุกคนรู้ว่าการถูกหวยสักงวดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คนก็ยังเล่นกันอยู่ทุกเดือนและถูกยกให้เป็นความหวังของใครๆ ที่อยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แถมยังดูมีความเป็นไปได้มากกว่าเส้นทางอื่นๆ ที่ต้องดิ้นรนกันเองในสังคมของเรา 

ในทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน Data Hatch ชวนอ่าน สลากกินแบ่งประชาชนสะท้อนปัญหาที่ประชาชนต้องแบ่งกันรับอย่างไม่เต็มใจ ผ่าน เลขท้ายสองตัวจากสลากของทุกงวด เล่าเรื่องผ่านดาต้าถึงประเด็นสังคมในหลายมิติที่ถูกมองข้าม เพื่อไม่ให้เลขท้ายสองตัวเป็นแค่ความหวังของเราในแต่ละเดือนเท่านั้น เพราะหากประเด็นเหล่านี้ถูกผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราก็คงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและไม่ต้องรอถูกหวยกันทุกเดือน

89% ของงบประมาณการจัดการกับฝุ่นพิษปี 67 
ถูกจัดสรรไปให้กรมป้องกันฯ อย่างเดียว 

สำหรับรอบนี้
‘89’ คือเลขท้ายสองตัวของหวยงวดวันที่ 1 กรกฏาคม 2567 และคือตัวเลขที่บอกเราว่า งบประมาณการแก้เรื่องฝุ่นพิษ PM 2.5 กระจุกอยู่ที่หน่วยงานเดียวมากถึง 89% 
.
แม้ว่าช่วงนี้ฝนตกหนัก ทำให้ฝุ่นเริ่มจางหายไปจากสายตา แต่นั่นไม่ได้หมายความเราจะปลอดภัยจากมัน เพราะเมื่อถึงช่วงหน้าหนาวปลายปี ปัญหา PM 2.5 ก็จะวนกลับมาใหม่เหมือนเดิม การแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นยังคงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรรับการแก้ไข จากรายงานจาก TDRI เผยว่างบประมาณในปี 2567 เพื่อใช้สำหรับการป้องกันและลดปัญหาฝุ่นนั้น กระจุกตัวอยู่ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มากถึง 89% แปลว่ารัฐบาลกำลังมองว่าปัญหาฝุ่น คือปัญหาสาธารณะภัยที่เกิดจากไฟป่าเท่านั้น
.
นอกจากนี้แล้ว จากงบประมาณเกือบทั้งหมด คือประมาณ 96% กลับตกไปอยู่กับหน่วยงานราชการส่วนกลางแค่ 11 จังหวัดเท่านั้น และมีอีก 2 กลุ่มจังหวัดที่ได้รับงบประมาณเพื่อจัดการกับเรื่องนี้เพียงแค่ 1% เท่านั้น แถมยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการแบบแยกส่วนกัน และระบบฐานข้อมูลส่วนกลางที่สามารถใช้ทำงานร่วมกันได้
.
จากสถานการณ์งบกระจุก ฝุ่นกระจายนี้ กำลังสะท้อนว่าว่าทิศทางการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นของเรายังไม่ถูกต้อง ปัญหาฝุ่นมีอีกหลายประเด็นที่ซ่อนอยู่ ทั้งจากปัญหาโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ สังคม และธรรมาภิบาล การจัดสรรงบประมาณเพียงแค่ที่เดียวเป็นหลักอาจไม่ได้แก้ไขปัญหานี้ได้อย่างตรงจุด แต่ต้องทำร่วมกันไปในหลายๆ ส่วน 
.
โดยทาง TDRI มาพร้อมข้อเสนอ 6 แนวทางแก้ไขด้วยกัน คือ 
1. จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายฝุ่นควัน PM2.5 เพื่อจัดการแบบมืออาชีพ 
2.เร่งรัดแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้มีเครื่องมือใหม่ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ในการป้องกันและลดปัญหาฝุ่นควัน 
3. ทำโครงการทดลองรูปแบบการบริหารจัดการเพื่อการแก้ปัญหานี้ 
4. จัดทำข้อมูลบิ๊กดาต้า 
5. บูรณาการงบประมาณของหน่วยงานส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น 
และ 6. มีนโยบายร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการกำหนดมาตรการลดการเผาในที่โล่ง
.
สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มจาก TDRI ได้ที่ https://tdri.or.th/…/pm2-5-solution-annual…/

 

31 คือเลขท้ายสองตัวของงวดวันที่ 16 มิถุนายน 2567 และคือเลขที่บอกถึงเปอร์เซนต์การแข่งขันที่น้อยลงเมื่อ AIS และ 3BB ควบรวมกัน เกิดปัญหาค่าเน็ตแพง มาพร้อมกับคุณภาพที่ลดลง

หลังจาก กสทช.ประกาศอนุญาตการควบรวมระหว่าง
AIS และ 3BB เข้าด้วยกัน ทำให้ AIS กลายเป็นผู้นำในตลาดบรอดแบรนด์ หรืออินเตอร์เน็ตบ้าน มีผู้ใช้งานมากที่สุดตอนนี้จากทั้งหมด 3 เจ้า ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือ เราจะมีทางเลือกและโปรโมชันที่น้อยลง ไปจนถึงเรื่องว่าราคาอาจเพิ่มขึ้น แต่อาจได้คุณภาพเท่าเดิมหรือน้อยลงตามมาแทน 
.

แม้ว่าการควบรวมในครั้งนี้ ทาง กสทช. วางมาตรการไว้แล้วว่าจะต้องไม่ขึ้นราคาและลดคุณภาพการให้บริการ พร้อมกำหนดว่าพวกราคาหรือแพ็คเกจต่างๆ ที่มีอยู่ ก็จะต้องมีอย่างนั้นต่อไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี อย่างไรก็ตาม งานวิจัยจาก 101 Public Policy Think Tank ได้ชี้ว่าการรวมกันในครั้งนี้ จะลดการแข่งขันในตลาดลงไปถึง 31% กระทบต่อราคาค่าเน็ตบ้านที่อาจเพิ่มขึ้นถึง 10-23% ซึ่งแน่นอนว่าจะกลายมาเป็นภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในอนาคต
.
จริงๆ ปัญหาเรื่องการควบรวมไม่ใช่เรื่องใหม่ แถมยังดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ ในอนาคต ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของตลาดอินเตอร์เน็ตเท่านั้น เพราะวิธีการควบรวบในตลาดเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการขยายตัวของธุรกิจ การรวมกันจนทำให้ไม่เหลือจำนวนผู้เล่นในตลาดมาก จะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคอย่างเราๆ ตั้งแต่เรื่องของทางเลือกที่ลดน้อยลง โปรโมชันที่ไม่หลากหลาย นวัตกรรมหรือการบริการต่างๆ ที่อาจน้อยตามมา ไปจนถึงราคาที่แพงขึ้น และคุณภาพที่ไม่ได้เท่าเดิม
.
เพราะฉะนั้นแล้วจึงต้องมีการจำกัดและควบคุมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ตัวอย่างหนึ่งจาก UK
ที่ต้องการควบรวมอินเตอร์เน็ตเหมือนกันแต่ไม่สำเร็จ เพราะมี CMA หรือ หน่วยงานกำกับดูแลเรื่องการแข่งขัน บอกว่าเรื่องการรวมกันของสองเจ้าใหญ่จะไม่แฟร์ต่อประชาชน และลดการแข่งขันในตลาด ดังนั้นแล้วสิ่งที่ กสทช. ควรต้องทำ คือการกำกับและดูแลให้ตลาดอินเทอร์เน็ตมีการแข่งขันที่มากขึ้น 
.
เพราะอินเตอร์เน็ตเป็นทุกอย่างสำหรับประชาชนในยุคนี้ และเราควรมีทางเลือกมากกว่าเดิม 
.
อ้างอิง:
https://101pub.org/…/AIS_3BB_Assessment_Final_20230810.pdf
https://www.bbc.com/thai/articles/ce9pvm8jj0po
https://www.scbeic.com/…/In-focus-Future-telecom…

 

 

42 คือ เลขท้ายสองตัวที่ออกในงวดวันที่ 1 มิถุนายน 2024 เป็นตัวเลขของ คะแนนคุณภาพของภาครัฐหรือ Quality of Government

จากรายงานของ International Country Risk Guide (ICRG) ในช่วงปีที่ผ่านมา ประเทศไทยทำคะแนนได้เพียง 42 คะแนนจาก 100 เท่านั้น ยิ่งกว่าคือช่วง 20 ปีที่ผ่านมาภาครัฐไทยยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยกำลังตามหลังเพื่อนบ้านรอบๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยสิงคโปร์ได้คะแนนนำลิ่วที่ 89 คะแนน มาเลเซีย 61 คะแนน และเวียดนาม 53 คะแนน 

คะแนนนี้วัดผลจากขีดความสามารถและการแก้ปัญหาของประเทศ แม้ว่าในช่วง COVID-19 ภาครัฐที่มีการจัดการที่ดี แต่ในมิติอื่นๆ รัฐไทยยังมีความสามารถในการจัดการต่ำ ไม่ว่าจะเรื่องการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทักษะคนผ่านการศึกษา การป้องกันเศรษฐกิจผูกขาด ยังไม่นับรวมเรื่องที่ว่ารัฐไทยมีศักยภาพในการทำงานให้ครอบคลุมทุกมิติ เช่น เราสามารถขยายถนนได้เป็นจำนวนมากต่อปี แต่กลับไม่สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้
.
เพราะความสามารถของภาครัฐเป็นตัวชี้วัดถึงคุณภาพชีวิตของเรา จากรายงานของ TDRI ได้ให้ข้อเสนอไว้ว่าสิ่งที่ภาครัฐควรต้องเร่งทำมีด้วยกันหลายอย่าง หลักๆ คือคือการเปลี่ยนระบบ พร้อมปฏิรูปทั้งระบบราชการ พัฒนาข้อมูลและการให้บริการให้ตอบโจทย์ประชาชน ไปจนถึงเรื่องกฏหมายและการเมืองด้วยเหมือนกัน 
.
ขอบคุณข้อมูลจาก Puey Ungphakorn Institute for Economic Research – PIER และ Thailand Development Research Institute (TDRI)

อ้างอิง : 
https://www.pier.or.th/abridged/2023/09/#capability
https://tdri.or.th/…/capabilities-of-the-government-and…

Banking & Finance

Public Sector

eCommerce

Travel

Healthcare

Education

Gaming

Technology