ทำไมการเข้าถึงข้อมูลของรัฐบาลถึงเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้ และตอนนี้หน่วยงานของรัฐกำลังทำอะไรกันอยู่ เป็น 2 คำถามที่ยากจะตอบ สิ่งที่จะทำให้เราสามารถตอบคำถามทั้ง 2 ข้อนี้ได้ คือการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ หรือ Open Data แต่ถ้าจะเกิดได้ต้องใช้ความร่วมมือของหลายฝ่ายด้วยกัน
ร่วมหาคำตอบของทั้งสองคำถามได้ที่งาน International Day for Universal Access to Information ประจำปี 2566 ร่วมจัดโดย UNESCO คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Data Hatch จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ในรูปแบบงานเสวนาออนไลน์โดยมีเป้าหมายหลักคือการสร้างความเข้าใจใหม่เรื่องของข้อมูลสาธารณะมากขึ้น
การเปิดเผยข้อมูลให้เป็นสาธารณะจะต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของหลายฝ่าย ไม่ว่าจะรัฐบาล ประชาสังคม และสื่อมวลชน ในวงเสวนาที่เกิดขึ้นจึงมีตัวแทนจากภาครัฐอย่างคุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร มาพร้อมตัวอย่างที่น่าสนใจอย่าง ‘Open Bangkok’ และ ‘Traffy Fondue’ แพลตฟอร์มกลางที่ประชาชนสามารถเข้ามาตรวจสอบ ติดตาม และเรียกร้องการทำงานจากกรุงเทพฯ และ คุณภาวนา ฤกษ์หร่าย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและการวิเคราะห์ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ก็ได้ยกอีกหนึ่งประเด็นในเรื่องของสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนที่ช่วยลดการคอรัปชัน
ก่อนตบท้ายด้วยประเด็นที่น่าสนใจและใกล้ตัว คือ ‘การเข้าถึงข้อมูลของสื่อและประชาชน’ โดยมีคุณวรภพ วิริยะโรจน์ สส. บัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ผศ.ดร. ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการ KRAC และผู้ร่วมก่อตั้ง HAND Social Enterprise ไปจนถึงสื่ออย่างคุณฐาปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้ง The Reporters และผู้ประกาศข่าว ตลอดจน คุณอมรินทร์ สายจันทร์ นักกฎหมายมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ร่วมกันถกประเด็นและตั้งคำถามถึงการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ และหน้าที่ที่สื่อควรจะทำต่อไป
เพื่อทำความเข้าใจเรื่อง Open Data ในหลายแง่มุมมากขึ้นกว่าเดิม Data Hatch ชวนฟังเสวนาจากงาน International Day for Universal Access to Information ทั้งในแง่มุมของฝั่งรัฐบาล ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ที่อาจนำไปสู่การพัฒนาแบบใหม่ที่มีประชาชนเป็นส่วนหนึ่งมากขึ้น