‘แสงอาทิตย์’ คือหนึ่งในพลังงานหมุนเวียนที่สามารถหมุนกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ สำหรับประเทศไทยที่สนิทกับพระอาทิตย์เป็นพิเศษจนเสมือนว่ามีฤดูร้อนตลอดทั้งปี น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่จะหยิบพลังงานมาปรับเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าให้กับเราได้ แล้วทำไมมันถึงยังไม่เกิดขึ้นสักที 

คำถามนี้นำมาสู่ประเด็นที่น่าสนใจว่า เพราะอะไรประเทศไทยถึงยังไม่สามารถดึงเอาศักยภาพของพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้งานได้อย่างเต็มที่ เกิดเป็นวงเสวนา “โซลาร์ โซใจ: ทางเลือกพลังงานที่ใช่ ในสภาวะค่าไฟแพง” เมื่อวันที่  10 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา จัดขึ้นโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค และ Data Hatch 

ในวงเสวนาประกอบไปด้วย คุณบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค คุณสมานชัย อภิพันธุ์อำไพ เจ้าของเพจช่างเถอะ by พี่ปี้ และ คุณวีรภัทร ฤทธาภิรมย์ นักรณรงค์จาก Greenpeace ร่วมกันนำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากภาคประชาชน ในแง่ของผลิตและเป็นเจ้าของพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อแก้ปัญหาค่าไฟแพง ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ   

เรื่องของพลังงานและค่าไฟแพงไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเท่านั้น แต่มาจากหลายปัญหา เช่น รัฐบาลที่เพิกเฉยจนไม่มีนโยบายที่จริงจังและผลักดันมากพอ  รวมถึงมาตรการการรับซื้อ-ขายไฟที่ไม่เป็นธรรม ไปจนถึงการบริหารไฟฟ้าของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ในกลุ่มทุนขนาดใหญ่มากจนเกินไป ซึ่งนอกจากสาเหตุของค่าไฟแพงแล้ว หนทางการแก้ปัญหาก็ยังมีอุปสรรคอยู่ในหลายแง่มุม ทั้งเรื่องของแหล่งทุนเงินกู้สำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ของประชาชน การผลักดันนโยบาย Net metering ที่ยังใช้งานไม่ได้จริงอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าเรื่องของโซลาร์เซลล์ และพลังงานหมุนเวียนซับซ้อนไปด้วยเงื่อนไขและคำถามต่างๆ กลายเป็นผลักภาระปัญหาค่าไฟแพงให้แก่ประชาชนต่อไป และส่งผลให้การมีโซลาร์เซลล์ของแต่ละครัวเรือนเป็นเรื่องยากมากขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าหลายองค์กรจะช่วยกันผลักดันเพื่อให้เห็นผลลัพธ์แล้ว แต่ในการปฏิบัติจริงจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจ และร่วมมืออีกมาก 

เพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาค่าไฟแพง และอุปสรรคต่างๆ มากขึ้น Data Hatch ชวนฟังเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “โซลาร์ โซใจ: ทางเลือกพลังงานที่ใช่ ในสภาวะค่าไฟแพง” เพื่อทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของค่าไฟแพง และหนทางแก้ปัญหาที่ดูจะยังไปไม่ถึงฝันตามใจหวังสักที 

เสวนาออนไลน์ “Solar sojai ทางเลือกพลังงานที่ใช่ในสภาวะค่ไฟแพง”