เคยถามตัวเองระหว่างเดินทางไปทำงาน หรือเดินออกไปซื้อข้าวกินตอนเย็นไหมว่าเรากำลังมีความสุขจริงๆ หรือเปล่าในเมืองที่เรากำลังอาศัยอยู่ ให้ Happy City Index #2023 จาก Institute for quality of life เป็นคำตอบ ผ่านการจัดอันดับ 200 เมืองแรกที่ผู้คนอยู่แล้วมีความสุขมากที่สุดของโลก
สำหรับในปี 2023 ที่ผ่านมาประเทศไทยติดอันดับที่ 190 อยู่ในระดับ Bronze ด้วยคะแนน 1,124 และติดเพียงแค่เมืองเดียว คือกรุงเทพฯ เมืองหลวงของเราเท่านั้น สำหรับเมืองที่น่าอยู่และผู้คนแฮปปี้กับชีวิตมากที่สุดคือประชากรจากเมืองออร์ฮูส (Aarhus) จากประเทศเดนมาร์กได้คะแนนรวมสูงสุด คือ 1,614 คะแนน และอันดับที่ 200 คือ นิโคเซีย (Nicosia) จากประเทศไซปรัส (Cyprus) โดยมีคะแนนนรวมที่ 1,102 ห่างจากที่หนึ่งอยู่ที่ 246 คะแนน และห่างจากบ้านเราเพียง 17 คะแนนเท่านั้น
เพราะว่าใครๆ ก็อยากจะมีความสุขไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ไหน ทั้งในแง่ของกายและใจที่ต้องประกอบกันด้วยหลายๆ ส่วน สำหรับ Index นี้เองก็มีตัวชี้วัดหลายด้านอย่างครอบคลุมเพื่อให้เห็นองค์รวมของความสุขมากที่สุด ทั้งเรื่องของผู้คน สิ่งแวดล้อม เงินและเศรษฐกิจ ไปจนถึงนโยบายจากรัฐบาล แลละการมีส่วนร่วมของประชาชน
เพื่อให้เห็นภาพความสุขของแต่ละเมืองชัดมากขึ้น Data Hatch ชวนอ่านดาต้าจาก Happy City Index #2023 เพื่อทำความเข้าใจระดับความสุขของแต่ละเมือง พร้อมย้อนมองภาพกลับมาที่กรุงเทพฯ ว่าความสุขของเรามันเพียงพอแล้วหรือยัง
Happy City Index ความสุขของเมืองที่จับต้องได้
งาน Institute of Quality of Life คือโปรเจ็กต์จาก Happy City Hub ที่ต้องการหาค่าความสุขของแต่ละเมือง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในแต่ละที่ ผ่านการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ให้ประเด็นต่างๆ สำหรับงาน Happy City นี้ได้ยังเอาประเด็นสำคัญๆ มาใช้เป็นเกณฑ์ในการชี้วัดความสุขของผู้คน
จริงๆ แล้วค่าความสุขจะหาโดยตรงเลยคงไม่ได้ ต้องมองผ่านมุมอื่น เช่น การใช้ชีวิต การเติบโตของผู้คน การศึกษา แหล่งเรียนรู้และวัฒนธรรม ตลอดจนเรื่องของนวัตกรรมใหม่ๆ การจัดอันดับ Happy City จึงประกอบไปด้วย 5 ตีมหลักคือ Citizen, Governance, Economic, Environment และ Mobility ทั้ง 5 เป็นหมวดหมู่หลักๆ ที่เมืองควรจะมีเพื่อการอยู่อาศัยในเมืองสะดวกสบาย แปรเปลี่ยนเป็นค่าความสุขมากที่สุดแทน โดยในแต่ละหัวข้อจะมีตัวชี้วัดย่อยลงไปอีก เช่น Citizen ก็จะมีเรื่องของการศึกษา การเข้าถึงห้องสมุดสาธารณะ ในหัวข้อ Governance ก็จะเป็นเรื่องของมาตรการต่างๆ นโยบาย การเข้าถึงและการมีส่วนร่วม หัวข้อ Economic ก็จะวัดในแง่ของนวัตกรรมต่างๆ ของเมือง การมีผู้ประกอบการหน้าใหม่ ตลอดจนเรื่องของเศรษฐกิจ และท้ายสุดคือหัวข้อ Environment ก็จะชี้วัดด้วยการเข้าถึงพื้นที่สีเขียว และการจัดการกับฝุ่น ควัน มลพิษในเมือง
สุขติดท็อป 5 แฮปปี้กว่าเพราะอะไร
ก่อนจะไปดูคะแนนของกรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ลองมาเช็กท็อป 5 ของเมืองที่ได้คะแนนความแฮปปี้มากที่สุดก่อน เปิดมาอันดับแรกด้วย เมืองออร์ฮูส (Aarhus) จากเดนมาร์ก ที่มาพร้อมตำแหน่ง อันดับหนึ่ง 2 ปีซ้อน โดยปีนี้ได้คะแนนรวมไป 1,614 อันดับสอง เมืองซูริค (Zurich) จากสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยคะแนนรวม 1,611 อันดับสาม เมืองแวนคูเวอร์ (Vancouver) จากแคนาดา ด้วยคะแนนรวม 1,605 อันดับที่สี่ เมืองนิวยอร์ก (New York) จากสหรัฐอเมริกา ด้วยคะแนนรวม 1,602 และตบท้ายอันดับ 5 ด้วย เจนีวา (Geneva) อีกเมืองหนึ่งจากสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยคะแนนรวม 1,599
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อลองเปิดตารางเทียบกันแล้ว ในแต่ละเมืองมีคะแนนสูงสุดในแต่ละหมวดที่ต่างกันออกไปด้วยเหมือนกัน สำหรับหมวดแรก Citizen เมืองที่ได้คะแนนเยอะมากที่สุดคือมหานครนิวยอร์ก ด้วย 401 คะแนน ถัดมาคือ Governance เมืองที่ได้คะแนนเยอะมากที่สุดคือ แวนคูเวอร์ ด้วย310 คะแนน หมวด Economic เมืองที่ได้คะแนนเยอะที่สุดคือ เจนีวา ด้วย 327 คะแนน หมวด Environment เมืองที่ได้คะแนนเยอะที่สุดคื ออร์ฮูส ด้วย 325 คะแนน และหมวดสุดท้าย Mobility เมืองที่ได้คะแนนเยอะที่สุดคือ ซูริค ด้วย 298 คะแนน
เมื่อมองจากตัวเลขที่ชี้วัดออกมาเป็นคะแนน ทำให้เห็นว่าตอนนี้แต่ละเมืองมีแนวโน้มการพัฒนาไปในทิศทางไหน เพราะอย่างเมืองออร์ฮูสเอง ก็เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องพื้นที่สีเขียว มิวเซียมและแหล่งวัฒนธรรมต่างๆ เมืองซูริคโดดเด่นในเรื่องของการเดินทางง่าย สะดวกสบาย และต่อตรงเวลา และมหานครนิวยอร์กก็ขึ้นชื่อเรื่องผู้คนที่หลากหลาย ทำให้เห็นว่าเจ้าตัวเลขค่าความสุขต่างๆ ของเมืองพวกนี้ไม่ได้เป็นแค่ตัวเลขเท่านั้น แต่ยังสะท้อนภาพของวิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่นั่นอยู่จริงๆ ด้วย
ค่าความสุขของกรุงเทพฯ อยู่ที่ไหน
‘190 จาก 200’ คืออันดับคะแนนของกรุงเทพฯ ในปี 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งจากตัวเลขนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ดี หรือเราจะไม่มีความสุขกันเลย เพราะ INDEX นี้เลือกหยิบมาเฉพาะ 200 เมืองแรกที่ติดอันดับเท่านั้น แล้วแบ่งทั้ง 200 เมืองออกเป็น 3 ระดับ คือ Gold Sliver และ Bronze โดยกรุงเทพฯ ติดอยู๋ในระดับ 3 คือ Bronze นั่นเอง ส่วนเมืองอื่นๆ ที่ไม่ได้ติด 200 อันดับนี้เกิดจากสาเหตุว่าไม่ถึงแสตนดาร์ดของหนึ่งใน 5 ตัวชี้วัดนั้นๆ
คะแนนรวมของกรุงเทพฯ ของปีนี้อยู่ที่ 1,124 คะแนน เพิ่มมา 6 คะแนนจากปีก่อน ก็เรียกได้ว่าในปี 2023 นี้กรุงเทพฯ ได้มีการขยับความสุขเพิ่มขึ้นอยู่เล็กน้อย ส่วนค่าคะแนนของแต่ละหมวดนั้นไม่มีค่าไหนโดดเด่นไปมากกว่ากัน อย่างในหมวดแรก คือ Citizen เราได้ไป 235 คะแนน หมวด Governance ได้ 235 คะแนน หมวด Economic ได้อยู่ที่ 221 คะแนน หมวด Environment อยู่ที่ 213 คะแนน และสุดท้าย Mobility กับ 219 คะแนน
ค่าคะแนนทั้งหมดนี้อาจทำให้เราพอคลายใจได้ว่าการอยู่ในกรุงเทพฯ ก็มีความสุขเหมือนกัน ที่น่าสนใจคืออีก 76 จังหวัดของไทยนั้นไม่ถูกพูดถึงเลย ดังนั้น ถ้าเราลองอนุมานตามหลักเกณฑ์ในการวัดค่าของ Index นี้อาจพอจะมองเห็นภาพได้ว่าการอยู่อาศัยในเมืองอื่นของไทยคงยังไม่มีความสุขมากเท่าไรนัก สะท้อนให้เห็นภาพการเป็นเมืองโตเดี่ยวของกรุงเทพฯ ได้มากขึ้น ส่วนในปี 2023 ที่ผ่านมา ประเทศที่มีเมืองติดอันดับเยอะสุดคืออังกฤษ มาด้วยกันถึง 21 เมือง ตามมาด้วยประเทศจีนอีก 14 เมือง
ให้ความสุขของผู้คนเป็นเรื่องสำคัญ
จากทั้งหมด 5 หมวด สำหรับหมวดที่เราห่างไกลจากค่าเฉลี่ยของทั้ง 200 ประเทศมากที่สุดคือ CITIZEN หรือประชากร โดยค่าเฉลี่ยของทั้งหมดอยู่ที่ 308 คะแนน และกรุงเทพฯ ทำไปได้เพียง 235 คะแนน เท่านั้น เรียกง่ายๆ ว่าห่างจากค่าเฉลี่ยมากถึง 72.91 คะแนนส่วนหมวดที่เราอยู่ใกล้ค่าเฉลี่ยมากที่สุดกลับเป็นเรื่องของ GOVERNANCE ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 268 คะแนน ซึ่งเราสามารถทำไปได้ถึง 235 คะแนนซึ่งห่างจากค่าเฉลี่ยทั้งหมดอยู่แค่ 33 คะแนนเท่านั้นเอง
โดยหลักเกณฑ์การวัดความสุขในหมวด CITIZEN ของ Institute for quality of life แบ่งออกมาด้วยกัน 4 เรื่องย่อย คือ ระบบการศึกษา การนับรวมทุกคนในสังคมที่หลากหลาย นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนในสังคม และการเข้าถึงพื้นที่ทางวัฒนธรรมและห้องสมุด
ระบบการศึกษาคือพื้นฐานแรก
ระบบการศึกษาคือขั้นพื้นฐานของความสุข การปูฐานไว้อย่างดีย่อมส่งผลให้การเติบโตของผู้คนมีคุณภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน สำหรับเรื่องของระบบการศึกษาของเด็กๆ วัดกันในเรื่องของความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ สกิลการคิดคำนวณและภาษาอังกฤษ โดยการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นจะแปรผันไปกับจำนวนผู้อยู่อาศัยในเมืองๆ นั้น นอกจากนี้แล้วการศึกษายังหมายรวมไปถึงความสามารถในการเรียนรู้ พร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ตลอดชีวิต หรือ life-long learning พร้อมมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถเติบโตต่อไปในโลกดิจิตัลได้ด้วยเหมือนกัน
ถ้าลองยกจากการชี้วัดของ World population review ในหัวข้อ Education Rankings by Country 2024 จะพบว่า 10 ประเทศแรกที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดนั้น มีประเทศเดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็น 3 ประเทศที่อยู่ในท็อป 5 ของหมวด CITIZEN ของ happy city index ติดอยู่ในลิสต์นี้ด้วย ในขณะที่ประเทศไทยไม่ได้ติดอยู่ด้วยซ้ำ หรือหากลองยกคะแนนจาก PISA ให้เห็นภาพกันง่ายๆ ก็จะพบว่าผลวัดระดับการศึกษาของเด็กไทยและสิงคโปร์อยู่ในระดับที่แตกต่างกันมาก ในขณะที่อันดับของประเทศไทยกำลังตกลงเมื่อเทียบจากปีที่แล้ว แต่สิงคโปร์กลับนำลิ่วไปที่หนึ่งของเอเชีย จึงเป็นไปได้ว่าค่าคะแนนความสุขด้าน Citizen หรือผู้คนของเราลดลงเพราะเรื่องของการศึกษาด้วยเช่นกัน
ความสุขกับความหลากหลายของผู้คน
ต่อมาในแง่ของความหลากหลายของผู้คนทางสังคม ขอยกตัวอย่างที่เมืองออร์ฮูสเองได้มีโปเรจ็กต์ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่ด้วย ภายใต้ชื่อ ‘GENLYD’ ทำหน้าที่เป็นออนไลน์แพลตฟอร์มที่เชิญชวนผู้คนให้ออกมาพบปะ พูดคุยกันในชีวิตจริงมากขึ้น เพื่อเรียนรู้ความแตกต่างและคลายความเหงา ที่กำลังเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของเมือง ไปจนถึงเป้าหมายใหญ่ของ Aarhus Kommune ที่ต้องการสร้างความเป็นหนึ่งเดียว และเท่าเทียมของผู้คนทั้งเมือง ผ่าน 3 ข้อหลักคือ ให้ประชาชนเป็นส่วนร่วม มีนโยบายเฉพาะกลุ่มรองรับ และบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ เทศบาล และประชาชน
เมืองสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรมใหม่
จาก Innovation Cities Index 2021 พบว่าเมือง Tokyo เป็นอันดับ 1 ของโลกและเอเชียในเรื่องของนวัตกรรมต่างๆ ที่ผสานไปกับผู้คนในเมือง ทั้งในแง่ของเทคโนโลยี ผู้คน โลกดิจิตัล ที่จะช่วยให้ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบายมากขึ้น ในขณะที่นิวยอร์กติดอยู่ในอันดับที่สามของลิสต์ และสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 5 ส่วนกรุงเทพฯ ของเราไม่ได้ติด 1 ใน 100 ของ Index นี้
หรืออีกหนึ่งตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพจากเมืองแวนคูเวอร์ คือเมืองได้มีการวางแผนเศรษฐกิจด้านนวัตกรรมไว้ตามย่านต่างๆ ให้กลายเป็นฮับสำหรับประเภทธุรกิจนั้นๆ โดยจะประกอบไปด้วยธุรกิจรายใหญ่ และกลุ่มโลคอลที่สามารถช่วยซัพพอร์ตกันได้ เช่น ในฝั่งดาวน์ทาวน์เป็นประเภทของธุรกิจเทคโนโลยี ฝั่ง Gastown เป็นเรื่องของธุรกิจสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ และความคิดสร้างสรรค์ Yaletown ยกให้เป็นย่านของดิจิตัลและครีเอทีพ
เข้าถึงห้องสมุดและวัฒนธรรมของเมือง
การเข้าถึงห้องสมุดและแหล่งวัฒนธรรมเป็นอีกเรื่องที่ทาง INDEX นี้ให้ความสำคัญ โดยในประเด็นนี้เมือง ซูริค ค่อนข้างนำเรามาไกลอยู่ เพราะมีห้องสมุดในเมืองมากถึง 50 แห่งด้วยกัน ตามมาด้วยแวนคูเวอร์ จำนวน 44 แห่ง ที่เป็นห้องสมุดสาธารณะของเมืองเองเลยถึง 22 แห่ง และเมืองออร์ฮูสมีห้องสมุดทั้งหมด 19 แห่ง ส่วนประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างเมือง Tokyo ญี่ปุ่นก็มีมากด้วยกันถึง 20 กว่าแห่ง ในขณะที่ประเทศไทยมีห้องสมุดสาธารณะใหญ่ๆ ในเมืองอยู่บางส่วน เช่น ห้องสมุดหอศิลป์ BACC หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร และห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี และห้องสมุดประชาชนภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานครอีก 36 แห่งจากทั้งหมด 50 เขต
ขอความสุขกรุงเทพฯ เพิ่มอีกนิดได้ไหม
จากผลการสำรวจและค่าคะแนนต่างๆ ที่พอทำให้เราเห็นภาพมากขึ้นว่าค่าความสุขจริงๆ หน้าตาเป็นอย่างไร และวัดผลได้อย่างไร สำหรับค่า Index นี้ไม่ได้แค่ช่วยประเมินค่ากันเฉยๆ เท่านั้น แต่ยังช่วยให้เมืองและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สามารถเห็นภาพรวมความสุขของคนในเมือง และกำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง เพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการและความสุขของผู้คนได้มากขึ้น
สำหรับเมืองกรุงเทพฯ เองก็ไม่ได้อยู่นิ่งกับที่ เราเห็นได้ถึงแนวทางการพัฒนาที่ค่อยๆ เริ่มเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ทั้งแง่ของการศึกษากับนโยบายต่างๆ ที่ออกมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มประสิทธิภาพของครูผู้สอน ปรับปรุงพื้นที่ห้องสมุด และพื้นที่สนามกีฬากว่า 40 แห่งให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน หรือในเรื่องของการนำร่องเปิด 11 ย่านสร้างสรรค์เองก็เป็นหนึ่งในนโยบายของกรุงเทพมหานครด้วยเช่นกัน ก็ไม่แน่ว่าในปีหน้าๆ ค่าความสุขของเราอาจจะขยับเพิ่มขึ้นก็เป็นได้ และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เท่านั้น เมืองในจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทยเองก็ควรได้รับการพัฒนา เพื่อให้ความสุขของการอยู่อาศัยไม่ต้องมากระจุกตัวที่เมืองหลวงอย่างเดียว
อ่านเพิ่มเติมที่ >>>
- https://research.eef.or.th/30-study-policy-chadchart/
- https://happy-city-index.com/HCI/happycityindex.html
- https://aarhus.dk/english/collaborate-with-the-city/inclusive-citizenship/inclusion#mainstreaming-citizen-involvement-and-service-differentiation-50
- https://northsearegion.eu/i2i/news/learning-social-inclusion-from-aarhus/
- https://www.upgradabroad.com/articles/best-education-system-in-the-world/
- https://vancouver.ca/home-property-development/vancouver-innovation-economy-map.aspx
- https://innovation-cities.com/register-download-city-rankings/25624/
- https://www.cea.or.th/th/creative-district-masterplan/bangkok