Power Development Plan หรือ PDP  คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ เป็นแผนจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศระยะเวลา 15-20 ปี เพื่อให้เพียงพอต่อประเทศในแง่มุมต่างๆ เช่น การเพิ่ม/ลดของประชากร การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ การมีโครงสร้างพื้นฐานในด้านพลังงานที่เหมาะสำหรับการลงทุนในต่างชาติ ฯลฯ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม  ในแง่นี้ PDP จึงเปรียบเสมือนเข็มทิศบอกทิศทางการผลิตไฟฟ้าของไทยในอีก 15-20 ปีข้างหน้า ว่าประเทศของเราจะใช้พลังงานจากแหล่งใด เชื้อเพลิงพลังงานประเภทใดในการผลิตไฟฟ้าที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและบริบทของโลก  

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดทำ PDP และมีคณะรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหารเป็นผู้อนุมัติแผน  ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการทำ PDP 5 ฉบับ คือ ในปี 2004 (2547), 2007 (2550), 2010 (2553), 2015 (2558) และปี 2018 (2561) และอาจมีการทบทวนแผนเพื่อปรับปรุงค่าพยากรณ์เป็นระยะเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอีก 5 ครั้ง คือ ในฉบับ PDP2007 Revision1 (2550), PDP2007 Revision2 (2552), PDP2010 Revision2 (2554), PDP2010 Revision3 (2555), PDP2018 Revision1 (2563) 

ก๊าซธรรมชาติ ยัง “มั่นคง” ใน PDP พลังงานหมุนเวียน ยังวนเวียนอยู่ที่เดิม

ในแผน PDP จะมีข้อมูลสำคัญที่คนให้ความสนใจ คือ การวางเป้าหมายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสำหรับ 15-20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นตัวที่จะกำหนดทิศทางการใช้พลังงานของประเทศว่าต้องมีความมั่นคงในรูปแบบใด และ จะใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อโลกและสิ่งแวดล้อม  

ข้อมูลสัดส่วนแผนปริมาณการผลิตไฟฟ้าตามประเภทเชื้อเพลิงในแผน PDP ของไทย 3 ฉบับล่าสุด คือ PDP 2015 (2558), PDP 2018 (2562) และ PDP2018 Revision1 (2563) มีประเด็นที่น่าสังเกตหลายประการที่จะเกี่ยวข้องกับค่าไฟฟ้า เช่น 

  • สัดส่วนของพลังงานจากก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากข้อมูล รายงานสถิติพลังงานของประเทศไทย 2566 ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเกือบ 60% และแนวโน้มการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งภายในประเทศจากแหล่งต่างๆ ลดลง ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศที่มีค่าสูงเพิ่มขึ้น ยิ่งเสี่ยงต่อการทำให้ค่าไฟแพงยิ่งขึ้นในอนาคต
  • ในขณะที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน แต่สัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนกลับลดลงใน PDP 2018 rev.1 ทั้งที่ควรจะเพิ่มมากที่สุด
  • นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มที่จะโตแบบก้าวกระโดด จากข้อมูลรายงานสถิติพลังงานของประเทศไทย 2566 ประเทศไทยนำเข้าไฟฟ้า 16% ซึ่งเป็นการทำสัญญากับต่างประเทศ  เช่น พลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศลาว มักจะเป็นการทำสัญญากันระหว่างประเทศ ทำให้กระบวนการตรวจสอบทำได้ยาก มีความโปร่งใสต่ำ

กว่าจะมาเป็น PDP ต้องผ่านอะไรมาบ้าง?

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นหน่วยงานหลักในการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายตัวของเมือง และนโยบายของรัฐบาล หลังจากนั้น จะประเมินและคัดเลือกแหล่งพลังงานและโรงไฟฟ้าที่เหมาะสม โดยจะนึกถึงความมั่นคงทางพลังงาน ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และจัดทำร่างแผน PDP

เมื่อได้ร่างแผน PDP แล้ว กระทรวงพลังงานจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ภาคธุรกิจ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคมโดยรวม จากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นคณะกรรมการที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและแผนพลังงานของประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีกรรมการคือรัฐมนตรี ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง จำนวนไม่เกิน 29 คน เพื่อให้ความเห็นชอบแผน PDP หลังจากที่ กพช. เห็นชอบแล้ว แผน PDP จะถูกเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ( ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติให้เป็นแผนปฏิบัติอย่างเป็นทางการ

เมื่อปี 2563 PDP 2018 rev.1 มีการจัดรับฟังความคิดเห็นเพียง 1 วันเท่านั้น เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด 19 โดยมีผู้เข้าร่วม 457 คน ในขณะที่ร่างแผน PDP 2018 ในปี 2561 มีการเดินสายเป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน 5 ภูมิภาค มีผู้เข้าร่วม 1,873 คน หลังจากนั้นก็จะมีการเสนอแผนต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อดูหลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ จากนั้นก็นำเสนอแผน PDP ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ต่างประเทศ มีบทเรียนอะไรใน PDP

ประเทศเยอรมนี นับเป็นประเทศที่มีก้าวหน้าด้านพลังงานหมุนเวียน  ซึ่งมีสถิติใหม่ที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนถึง 85% ในปี 2017 โดยแทบจะไม่ต้องใช้ถ่านหินและนิวเคลียร์เลย เป็นผลจากที่รัฐบาลได้เริ่มลงทุนในเรื่องพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องโดยตลอดมาตั้งแต่ปี 2010

แผน PDP ของเยอรมนีมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ กระบวนการเริ่มต้นแผน PDP มาจากการจำลองฉากทัศน์ต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐจัดทำขึ้น โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบจะทำฉากทัศน์ด้านพลังงานและเทคโนโลยีที่เป็นไปได้ ในอนาคตไว้อย่างน้อย 3 รูปแบบ เพื่อให้ครอบคลุมความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น และให้เข้าใจผลกระทบของการเลือกใช้เทคโนโลยีของพลังงานที่แตกต่างกัน จากนั้นจะมีการปรึกษาหารือสาธารณะ (Public consultation) โดยหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อให้ได้ scenario framework หลักในการทำแผน

หลังจากนั้น หน่วยงานกำกับดูแลจะทำหน้าที่จัดรับฟังความเห็นสาธารณะ โดยรายละเอียดต่างๆ จะต้องประกาศเปิดเผยสู่สาธารณะทางหนังสือพิมพ์และเว็บไซด์ และเมื่อผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นสาธารณะแล้ว จะมีกระบวนการทางรัฐสภาให้การพิจารณา เพื่อให้การรับรองและอนุมัติในขั้นสุดท้าย 

ด้านประเทศเวียดนาม แผน PDP8 ที่ประกาศใช้ปี 2023 นับเป็นแผนที่ก้าวกระโดดและเน้นการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างจริงจัง เป้าหมายสำคัญ คือ การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ที่สนใจเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และในเวทีด้านสภาพภูมิอากาศที่ผ่านมา  รัฐบาลเวียดนามประกาศคำมั่นกับนานาชาติว่าจะยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและมีแผนยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ดำเนินการไปแล้ว  ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศแม้ว่าจะทยอยลดและเลิกการใช้ถ่านหินเช่นกัน แต่มักจะใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่าน โดยให้เหตุผลว่าก๊าซธรรมชาติสะอาดกว่าถ่านหิน (หรือความจริง แค่สกปรกน้อยกว่า) แต่ตัวเลขในแผน PDP8 ของเวียดนาม ให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนมากกว่า โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2050 จะมีสัดส่วนพลังงานจากแสงอาทิตย์ 34% พลังงานลม 27% และไม่มีสัดส่วนพลังงานที่มาจากถ่านหินอีกต่อไป

PDP ของไทย สำคัญกับใคร แล้วสำคัญยังไง?

ในมุมของรัฐบาล

ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจ แผน PDP จะช่วยให้มั่นใจว่าไฟฟ้าจะเพียงพอต่อการพัฒนาประเทศและความต้องการของประชาชน ใช้งบประมาณคุ้มค่า ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากบางแหล่งพลังงาน เช่น ถ่านหินจะก่อให้เกิดมลพิษ จึงต้องคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ

สำหรับนักลงทุนต่างชาติได้เริ่มหันมาสนใจ PDP มากขึ้นเพราะก่อนที่จะเริ่มลงทุนในประเทศต่าง ๆ จะต้องดูว่าประเทศนั้น ๆ มีแผนพลังงานที่มั่นคงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างเช่น APPLE ที่มีการขยายการลงทุนในเวียดนามเพราะเวียดนามมีแผน PDP ที่ชัดเจนในการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด

ในมุมมองของภาคอุตสาหกรรมไทย

ภาคอุตสาหกรรมในไทยต้องการพลังงานสะอาดไม่ต่างกับนักลงทุนต่างชาติ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่มี Carbon Footprint ต่ำซึ่ง PDP เป็นสิ่งที่กำหนดว่าแหล่งพลังงานจะมาจากไหน เป็นพลังงานแบบใด และราคาพลังงานที่รวมไปถึงค่าไฟ ควรจะเป็นราคาที่ไม่ผันผวน  สามารถวางแผนได้  ไม่มีการปรับขึ้น-ลงบ่อย เพื่อให้แข่งขันทางธุรกิจได้ง่าย 

ในมุมของประชาชน

PDP มีผลต่อการจ่ายค่าไฟของประชาชนโดยตรง เพราะว่า PDP จะพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าในประเทศ จากนั้น PDP จะกำหนดการหาแหล่งพลังงานจากโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งการที่พยากรณ์สูงเกินจริงก็จะส่งผลให้ค่าไฟของประชาชนยิ่งแพงขึ้นเรื่อย ๆ

อ้างอิง

APPLE ประกาศขยายการลงทุนในเวียดนาม
Apple ร้องขอให้ซัพพลายเชนทั่วโลกกำจัดคาร์บอนภายในปี 2030
Vietnam’s Eighth National Power Development Plan (PDP VIII)
2 เดือน โซลาร์ภาคประชาชน ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 2,244 ราย ยังห่างเป้า 100 เมกะวัตต์
ลมและแสงอาทิตย์อนาคตของระบบไฟฟ้าไทย
PDP2018
PDP2018 ฉบับ Revision1
การปรับปรุงpdp2010
“โควิด” เขย่าแผน PDP โจทย์ใหม่ “พลังงานอนาคต”.
ประเทศเยอรมันสร้างสถิติใหม่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนถึง 85%
แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติ (PDP8) ได้รับการอนุมัติในที่สุด
https://www.facebook.com/photo?fbid=122143083926175256&set=a.122132768738175256&locale=th_TH
https://www.ptit.org/insight/detail?id=146
องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)