🛵 ขนส่งแค่หลักร้อย ทำมอ’ไซค์ล้นหลักล้านเมื่อระบบขนส่งสาธารณะไม่ตอบโจทย์ ผู้ประกอบการมีไม่พอ ท้ายสุดประชาชนต้องพึ่งพาตัวเอง

ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัดไม่เพียงพอ สะท้อนผ่านปริมาณรถจักรยานยนต์ที่เยอะของแต่ละจังหวัด ในตั๋วรถเมล์แต่ละใบเปรียบเทียบเป็นจังหวัด ช่องสีเทา บอกเราถึงจำนวนผู้ประกอบการระบบขนส่งสาธารณะหมวด 1 คือ วิ่งในถนนเขตเมืองหรือสายหลัก และหมวด 4 วิ่งในถนนสายรอง (วิ่งให้บริการตามเส้นทางสายย่อย ตามอำเภอ หมู่บ้านหรือเขตชุมชน) ช่องสีฟ้า คือปริมาณรถจักรยานยนต์และจำนวนประชากรในช่องด้านล่างของตั๋ว 

จังหวัดที่มีผู้ประกอบการด้านรถขนส่งสาธารณะสายหลักเยอะที่สุด 5 จังหวัดแรก  คือ ขอนแก่น, นครราชสีมา, นครสวรรค์, นนทบุรี และชลบุรี ส่วน 5 จังหวัดที่มีรถวิ่งในสายรองเยอะที่สุด คือ นครราชสีมา, ขอนแก่น, สมุทรสาคร, สงขลา, นนทบุรี 

จังหวัดที่ไม่มีผู้ประกอบการรถขนส่งสาธารณะในสายหลัก มี 23 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, ปทุมธานี, บึงกาฬ, นครนายก, อ่างทอง, ชัยนาท, มุกดาหาร, หนองคาย, นครพนม, เลย, พะเยา, ปราจีนบุรี, ลำพูน, กาฬสินธุ์, พิจิตร, ปัตตานี, ชัยภูมิ, นราธิวาส, ยะลา, จันทบุรี, ร้อยเอ็ด, นครปฐม และสุรินทร์ 

การเดินทางในต่างจังหวัดเป็นเรื่องยากเสมอ เพราะการไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่รองรับ สำหรับนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ หรือต่างประเทศ การพยายามเดินทางเพียง 2-3 วันอาจมองว่าเป็นการผจญภัยของทริป แต่สำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดที่ไม่มีระบบขนส่งที่ดี ไม่ใช่เรื่องสนุก

การเดินทางที่สะดวกสบายคือโครงสร้างพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ แต่ทำไมต่างจังหวัดถึงไม่สามารถมีระบบขนส่งเหมือนกรุงเทพฯ ได้ แถมกลายเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องแก้เองด้วยการถอยรถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ออกมาเพื่อใช้ในการเดินทางแต่ละวัน จนตอนนี้หลายจังหวัดมีมอเตอร์ไซค์มากกว่า 1 ล้านคันไปแล้ว จนกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่าเดิม เพียงแค่เพราะเราไม่มีระบบขนส่งในเมืองที่ดี 

ปัญหาเรื่องระบบขนส่งสาธารณะเป็นปัญหายาวนาน เหมือนเกมงูกินหางที่ประเทศไทยแก้ไม่ได้เสียที Data Hatch ชวนอ่าน Data Story พาทุกคนไปดูถึงปัญหาระบบขนส่งสาธารณะผ่านจำนวนรถมอเตอร์ไซค์ และเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ประกอบรถขนส่งสาธารณะที่จดทะเบียนในจังหวัดนั้นๆ เพื่อสะท้อนถึงจำนวนความแตกต่าง และปัญหาของระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่กระจาย

ขอ Note เล็กๆ ว่างานชิ้นนี้ เราขอไม่นับกรุงเทพฯ เข้าไปด้วย เพราะแม้เมืองหลวงของเรามีระบบขนส่งสาธารณะมากมายเต็มไปหมด แต่ปัญหาด้านนี้ของกรุงเทพฯ นั้นอยู่ในประเด็นหนึ่งที่ต่างกันออกไป 

🚇 คนเยอะ รถมอเตอร์ไซค์ก็เยอะตาม

ด้วยลักษณะของเมืองในภูมิภาคมักมีพื้นที่ตัวเมืองเล็ก ต่างจากกรุงเทพฯ ทำให้การเดินทางระหว่างอำเภอเป็นเรื่องยาก จึงจำเป็นให้หลายบ้านต้องมีรถมอเตอร์ไซค์เพื่อใช้ในการเดินทางของตัวเอง โดย 5 จังหวัดแรกที่มีรถมอเตอร์ไซค์เยอะที่สุด (ไม่นับกรุงเทพฯ) คือ

5 เมืองแรกนี้ล้วนเป็นเมืองหลักของแต่ละภูมิภาค ฝั่งตะวันออกส่งเข้ามาถึง 2 จังหวัดคือ ระยองและชลบุรี ทั้งสองเมืองเป็นเมืองโรงงาน ทำให้มีจำนวนคนทั้งประชากรแฝงและประชากรในเมืองอยู่จำนวนมาก เชียงใหม่ในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่มีความพยายามเกี่ยวกับการผลักดันระบบขนส่งสาธารณะในเมือง ติดอันดับรองลงมา ส่วนนครราชสีมาที่ทำหน้าที่เป็นจังหวัดทางผ่าน ผ่านไปยังจังหวัดอื่นๆ ของภาค และสงขลา จังหวัดหัวเมืองใหญ่ของทางภาคใต้

เอาจริงๆ จำนวนมอเตอรไซค์ที่เยอะนั้นเป็นตัวเลขที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะค่อนข้างเห็นชัดเจนว่าสัมพันธ์กับจำนวนผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ อย่างนครรราชสีมาเป็นเมืองที่มีประชากรสูงเป็นอันดับแรก (ไม่นับรวมกรุงเทพฯ)  เชียงใหม่สูงเป็นอันดับ 3 และชลบุรีมีประชากรอาศัยมากเป็นลำดับ 6 ของไทย ความน่าแปลกใจอยู่ที่ถ้าหัวเมืองหลักแต่ละภาคมีผู้คนใช้ชีวิตอยู่มากขนาดนั้น ทำไมระบบขนส่งสาธารณะถึงยังไม่เพียงพอต่อการใช้งาน 

🛵 มอเตอร์ไซค์เป็นล้าน ผู้ประกอบการระบบขนส่งสาธารณะไม่ถึงร้อย

ทีนี้ลองมองมาที่จำนวนผู้ประกอบการของขนส่งสาธารณะในแต่ละจังหวัด เพื่อให้เห็นภาพระบบขนส่งสาธารณะที่แต่ละจังหวัดมี โดยเราแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ หมวด 1 สำหรับขนส่งสาธารณะที่เดินทางสายหลัก และ หมวด 4 รถขนส่งสาธารณะที่วิ่งในถนนสายรองของจังหวัด 

โดย 5 จังหวัดแรกที่มีจำนวนผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในหมวด 1 (ถนนสายหลัก) มากที่สุดคือ 

ขอนแก่น 21 ราย 
นครราชสีมา 16 ราย
นครสวรรค์ 8 ราย 
นนทบุรี 7 ราย 
ชลบุรี 7 ราย 

นอกจากการวิ่งในเส้นทางหลักแล้ว การมีรถรับส่งวิ่งในเส้นทางรอง หรือเส้นเลือดฝอยของเมืองทำให้ผู้คนสามารถเดินทางได้ง่ายขึ้น โดย 5 จังหวัดแรกที่มีจำนวนผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในหมวด 4 (ถนนสายรอง) มากที่สุดคือ

นครราชสีมา 78 ราย
ขอนแก่น 31 ราย
สมุทรสาคร 30 ราย 
สงขลา 26 ราย 
นนทบุรี 23 ราย

🚇 23 จังหวัดที่ไม่มีผู้ประกอบการระบบขนส่งสาธารณะเลยสักราย

แต่เรายังมีอีก 23 จังหวัดที่ไม่มีผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะในหมวด 1 หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นจังหวัดที่ไม่มีรถขนส่งวิ่งในเส้นทางถนนสายหลักด้วยซ้ำไปคือ แม่ฮ่องสอน, ปทุมธานี, บึงกาฬ, นครนายก, อ่างทอง, ชัยนาท, มุกดาหาร, หนองคาย, นครพนม, เลย, พะเยา, ปราจีนบุรี, ลำพูน, กาฬสินธุ์, พิจิตร, ปัตตานี, ชัยภูมิ, นราธิวาส, ยะลา, จันทบุรี, ร้อยเอ็ด, นครปฐม และสุรินทร์

ส่วนหมวด 4 หรือถนนสายรองมีในทุกจังหวัด แต่จังหวัดที่น้อยที่สุดคือ พิจิตร 1 ราย ส่วน บึงกาฬ แม่ฮ่องสอน ปัตตานี อำนาจเจริญ และ สตูล มีจังหวัดละ 2 ราย

🛵 มอเตอร์ไซค์เยอะ เพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุบนท้องถนน

รถมอเตอร์ไซค์จำนวนมากเมืองนี้เป็นปัญหาให้กับเรา นอกจากในเรื่องของความไม่สะดวกสบายในการใช้ชีวิตในเมืองแล้ว ยังมีเรื่องของภาระในการใช้จ่ายปัจเจกที่ต้องเพิ่มขึ้นตามมา ไหนจะค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าดูแลต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมา 

เมื่อนำดาต้าของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากมอเตอร์ไซค์มาเทียบกับจังหวัดที่มีมอเตอร์ไซค์เยอะที่สุด เราพบว่าค่อนข้างสัมพันธ์กัน คือจังหวัดไหนที่มีรถมอเตอร์ไซค์เยอะ อุบัติเหตุก็เยอะตามไปด้วย โดย 3 อันดับแรกของเมืองที่มีอุบัติเหตุและคนเสียชีวิตจากมอเตอร์ไซค์มากที่สุด (โดยไม่รวมกรุงเทพฯ) คือ นครรราชสีมา ชลบุรี เชียงใหม่ และทั้ง 3 จังหวัดติดท็อปจังหวัดแรกที่มีจำนวนรถมอเตอร์ไซค์เยอะที่สุดของประเทศอีกด้วย

ปริมาณรถมอเตอร์ไซค์เยอะในเมืองทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมาด้วย ซึ่งจำนวนที่เยอะของรถมอเตอร์ไซค์นี้ก็สะท้อนถึงการขาดระบบขนส่งสาธารณะที่ดีในเมือง ผลักให้ทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเองเป็นหลัก เพื่อให้ยังสามารถเดินทางไปไหนมาไหนในเมืองได้ ท้ายสุดก็กลับมาเป็นปัญหารถเยอะ อุบัติเหตุเยอะตามมาด้วย

ข้อมูลนี้มาจากรายการ ‘5 กราฟ เข้าใจแล้วก๊าบ EP.2 ความตุยบนท้องถนนจากโลกถึงไทย’ 

🚇 ต่างจังหวัดต้องการใช้งาน แต่คนใช้งานไม่มากพอ

รถมอเตอร์ไซค์ในเมืองกำลังมีปัญหาเพราะมีเยอะเกินไป การเพิ่มระบบขนส่งสาธารณะอาจเป็นทางออกของปัญหานี้ แต่การที่ระบบขนส่งยังไม่เกิดได้ในทุกเมืองก็สะท้อนถึงปัญหา ‘งูกินหาง’ ในระบบของมันเองด้วยเช่นกัน

หนึ่งในปัจจัยที่สามารถทำให้ระบบขนส่งสาธารณะสามารถอยู่รอดได้ คืออุปสงค์และอุปทานต้องสัมพันธ์กัน แต่ปัญหาหลักๆ ของต่างจังหวัดคือจำนวนผู้ใช้งานไม่เยอะมากพอจนถึงขั้นปรับตัวเองเป็น Mass Transit ได้ เพราะจำนวนคนในเมืองมีไม่เยอะมาก ส่วนหนึ่งก็ขยับขยายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ปัญหางูกินหางมันจึงเกิดขึ้นทีว่าหากเราต้องการให้มีคนเข้ามาใช้งานระบบขนส่งสาธารณะให้มาก เพื่อให้คุ้มแก่การลงทุน เมืองก็ต้องดึงดูดคนเข้ามาให้ได้มากกว่าเดิม แต่ปัจจัยหนึ่งที่คนจะเลือกเข้ามาอาศัยในเมืองๆ นั้น ก็คือเรื่องของการเดินทางที่สะดวกสบาย ท้ายสุดก็กลายเป็นปัญหาเดิม ติดลูปไม่รู้จบ 

นอกจากนี้ จากข้อมูลของ TDRI พบว่าแนวโน้มของการใช้รถสาธารณะยังน้อยลงตลอดเวลา เห็นได้จากจำนวนรถโดยสาสาธารณะที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ทำให้เส้นทางเดินรถน้อยลงไปอีก ส่งผลให้คนต้องหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น หรือในอีกแง่ก็อาจจะมองได้ว่า เพราะระบบขนส่งสาธารณะที่เหลืออยู่เองก็ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ ในแง่ของเส้นทางที่อยากไป หรือความปลอดภัยนต่างๆ ทำให้ท้ายสุดแล้วคนก็ต้องมาใช้รถของตัวเองอยู่ดี

🛵 อุบลฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ เมืองใหญ่ที่กำลังมีระบบขนส่งด้วยตัวเอง

แต่ใช่ว่าเราไม่เคยมีความพยายามในการเพิ่มระบบขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัด หัวเมืองใหญ่ๆ หลายจังหวัดของไทยกำลังมีการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นมาเหมือนกัน

หนึ่งในตัวอย่างจังหวัดที่น่าสนใจคือ อุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่มีระบบขนส่งสาธารณะค่อนข้างดี คือครอบคลุมในการใช้งาน มีผู้ประกอบการในสายหลัก 4 ราย และสายรองอีก 20 ราย อีกทั้งยังมีจำนวนผู้ใช้งานมาก เมื่อเทียบกับเมืองภูมิภาคอื่นๆ ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะยังสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ใช้งาน แต่ก็ถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าสถานการณ์โควิด-19

ตอนนี้เมืองอื่นๆ เองก็กำลังมีความพยายามในการเพิ่มระบบขนส่งสาธารณะเข้าไปเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เช่น เชียงใหม่กับ RTC CHIANG MAI CITY BUS  รถเมล์ประจำจังหวัดที่เพิ่งได้นำกลับมาวิ่งใหม่อีกครั้งหนึ่งหลังจากเคยวิ่งอยู่สักระยะหนึ่งก่อนโควิด-19 เมืองหาดใหญ่กำลังทดลองใช้ระบบขนส่งสาธารณะรอบเมือง โดยใช้รถมินิบัส-รถตู้-รถตุ๊กตุ๊ก มารับส่งผู้คนในจุดสำคัญๆ ของเมือง เช่น สนามบินหาดใหญ่ ตลาดกิมหยง ตัวเมืองสงขลา ตลอดจนขอนแก่นซิตี้บัส ที่นำกลับมาวิ่งใหม่อีกครั้งหนึ่งเหมือนกัน โดยรอบนี้มาพร้อมกับระบบจัดเก็บข้อมูล และเทคโนโลยีเพื่อให้รถเมล์ประจำทางนี้สามารถวิ่งต่อไปได้โดยไม่ขาดทุน

จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 จังหวัดที่ยกมา ล้วนเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีประชากรอยู่เยอะ มีทั้งระบบนำร่องทดลองวิ่งก่อน และระบบที่เคยมีแต่นำกลับมาวิ่งใหม่ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลมาจากความพยายามของภาคเอกชนที่ต้องการผลักดันให้จังหวัดของตนมีรถขนส่งสาธารณะ และยกระดับการใช้ชีวิตของประชากรในเมือง

🚇 งูไม่กินหาง ถ้ารัฐยอมขาดทุนเพื่อหนุนเอกชน

ปัญหาหนึ่งที่ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะยังไม่กระจายไปทั่วเพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองโตเดี่ยว ทำให้เมืองอื่นๆ ตามภูมิภาคจึงไม่มีโอกาสในการมีรถขนส่งสาธารณะเป็นของตัวเองมากนั้น

ข้อมูลจาก Think Forward Center ย้อนดูงบประมาณที่ผ่านมาของกระทรวงคมนาคมจะเห็นได้ว่าไม่มีรายละเอียดงบที่นำไปพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะอย่างชัดเจน และงบส่วนมากกว่า 27 ล้านบาทนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งสาธารณะของกรุงเทพฯ และปริมณทล ตลอดจนระบบขนส่งระหว่างเมือง ในขณะที่งบประมาณของระบบขนส่งสาธารณะในภูมิภาคได้รับงบประมาณน้อยกว่านั้นมาก ชี้เห็นได้ว่าที่ผ่านมารัฐไม่ได้เลือกลงทุนกับระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาคเท่าที่ควร ทำให้พื้นที่เดิมที่เคยมีระบบขนส่งก็น้อยลง เมืองที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็ไม่เคยเกิดขึ้นต่อไป 

เพื่อไม่ให้งูวนกลับมากินหางอีกครั้ง ข้อต่อบางส่วนจะต้องถูกหักออกไปโดยรัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วย เพื่อให้ทุกจังหวัดสามารถเดินทางได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของเอกชนเท่านั้น รัฐต้องเข้ามาช่วยอุดหนุน โดยในแต่ละจังหวัดก็อาจมีเงื่อนไขแตกต่างกัน และรัฐควรจะยอมขาดทุนในบางส่วนเพื่อให้ระบบสามารถดำเนินต่อไปได้ และพร้อมพัฒนาระบบเพื่อรองรับความต้องการของการใช้งานของประชาชน

เพราะการเดินทางที่สะดวกสบายหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ต้องเสี่ยงกับการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์บนท้องถนน และภาระค่าใช้จ่าย หรือโอกาสการเสียชีวิต การลงทุนในเรื่องการเดินทางจึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐไม่ควรละเลย ไม่ว่าจะเมืองเล็กหรือใหญ่ก็ตาม

ที่มาข้อมูล
จำนวนประชากร: กรมการปกครอง ปี 2566
https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statMenu/newStat/home.php
จำนวนใบอนุญาตประกอบการขนส่งและจำนวนรถมอเตอร์ไซค์: กรมการขนส่งทางบก (ก.ค. 2567) https://web.dlt.go.th/statistics/
https://think.moveforwardparty.org/article/welfare/2638/
https://www.tcc.or.th/revive-pubilic-transport/
https://decode.plus/20210210/
https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/100718