ถ้าไม่เป็นเพราะฝน หรือจะเป็นเพราะการรับมือ ทำให้ประเทศไทยยังเผชิญหน้ากับ ‘ปัญหาน้ำท่วม’

‘ฝนตก-น้ำท่วม’ เป็นของคู่กัน จนเราภาวนาอยากจะขอให้มันลองแยกตัวออกจากกันดูบ้าง เพราะเบื่อที่จะต้องเผชิญกับน้ำท่วมทุกครั้ง แถมหลายครั้งก็รุนแรงจนกลายเป็นภัยพิบัติ สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินไปจำนวนมาก ไปจนถึงเรื่องมาตรการการเยียวยาหลังจบน้ำท่วมก็อาจไม่เพียงพอและทั่วถึง 

ลองย้อนดูจากสถิติที่ผ่านมา 15 ปี มีทั้งปีที่ตัวเลขสอดคล้องกัน คือน้ำฝนเยอะ พื้นที่ได้รับผลกระทบเยอะ แต่ก็มีบางปีที่ฝนตกเยอะ แต่ไม่ได้รับผลกระทบเยอะมากขนาดนั้น หรือบางปีอยู่ๆ ก็กลายเป็นน้ำแล้งแทนทั้งที่ปีก่อนหน้าตกหนักไม่ไหว ทำให้ชวนตั้งข้อสังเกตถึงระบบการจัดการ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังน้ำท่วมว่าที่เรามีอยู่เพียงพอแล้วหรือยัง ไปจนถึงว่าเรื่องของน้ำท่วมคาดการณ์ได้หรือไม่ 

ให้เห็นภาพประเทศไทยในเมืองบาดาลมากขึ้น ชวนตั้งข้อสังเกตถึงตลอด 15 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทยว่าฝนตกมักคู่กับน้ำท่วมจริงหรือไม่ สร้างความเดือดร้อนหรือกระทบไลฟ์สไตล์ของเราอย่างไร หาคำตอบผ่าน Data Story ว่าด้วยปริมาณน้ำฝน ความรุนแรงและความเสียหายของน้ำท่วมในแต่ละปีกำลังบอกถึงการรับมืออย่างไร 

💧มวลน้ำฝน 15 ปี ของประเทศไทยที่ผ่านมา

ดาต้าฝนตกน้ำท่วมในช่วง10ปีที่ผ่านมา

จากสถิติ 15 ปีที่ผ่านมา คือปี 2552 – 2566 เรื่องที่เราต้องการจะเทียบให้เห็นภาพมีด้วยกัน 3 ประเด็นคือ (1) พื้นที่ปริมาณน้ำท่วมที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด (2) ปริมาณฝนรายปี และ (3) จำนวนผู้เสียชีวิต โดยส่วนใหญ่แล้วหากปีไหนปริมาณฝนตกหนัก จำนวนพื้นที่ได้รับผลกระทบก็จะเยอะตามไปด้วย 

ก้อนน้ำในแต่ก้อนมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส วางเรียงกันตามปีตั้งแต่ 52 จนถึง 66 ถ้าหากก้อนไหนมีขนาดใหญ่นั้นหมายถึงพื้นที่ที่ปริมาณน้ำกระทบ ยิ่งใหญ่ ยิ่งกระทบเยอะ ส่วนความสูงของน้ำสะท้อนปริมาณน้ำฝนในปีนั้นๆ คือถ้ายิ่งสูง ยิ่งแปลว่าฝนตกเยอะในปีๆ นั้น ส่วนปะการังและฝูงปลา หมายถึงจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดจากอุทกภัยของปีนั้น ปะการังสมองมีค่าเท่ากับ 1,000 คน สาหร่ายเขียวหมายถึง 100 คน ประการังจิ๋วสีชมพู หมายถึง 10 คน และปลาแทนจำนวนผู้เสียชีวิต 1 คน 

ฉะนั้นถ้าก้อนน้ำปีไหน ใหญ่ สูง มีปะการังและปลาเยอะ แปลว่าปีนั้นฝนตกเยอะ และส่งผลกระทบและความสูญเสียในวงกว้าง แต่ถ้าปีไหนก้อนน้ำมีขนาดเล็ก ความสูงไม่มากเท่าไหร ปะการังไม่เบ่งบาน ปลาไม่ได้ว่ายกันเยอะ แปลว่าปีนั้นเราพอจะรับมือกับน้ำท่วมกันได้อยู่ 

แน่นอนว่าในปี 2554 มหาอุทกภัยที่ทุกคนจำได้ ก็ต้องเป็นปีที่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ 31,452,900 ไร่  กินพื้นที่กว่า 74 จังหวัด โดยในปีนั้นมีปริมาณน้ำฝนรายปีอยู่ที่ 1,824 มิลลิเมตร และจำนวนผู้เสียชีวิต 1,026 คน นับรวมมูลค่าความเสียหายได้ถึง 2 หมื่นกว่าล้านบาท 

ส่วนปีที่น้ำน้อยที่สุด จนกลายเป็นปีนั้นเราเผชิญกับสถานการณ์ความแล้งจัด คือปี 2558 คือปริมาณน้ำฝนเพียง 1,247 มิลลิเมตรเท่านั้น น้อยกว่าปกติอยู่ประมาณ 14.7% ส่งผลให้มีพื้นที่ที่น้ำท่วมน้อยกว่าปีอื่นด้วย คือแค่ประมาณ 5 แสนไร่เท่านั้น มีจำนวณผู้เสียชีวิตทั้งหมด 11 คนด้วยกัน โดยมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท มีทั้งพื้นที่เกษตรที่เสียหาย และเกษตรกรที่ประสบภัย

และสำหรับปี 66 ที่ผ่านมา อยู่ในอันดับที่ 4 ของปีที่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเยอะที่สุด โดยมี 73 จังหวัดที่ได้รับน้ำท่วม มีปริมาณน้ำฝนอยู่ที่ 1,408 มิลลิเมตร ก็ค่อนข้างสัมพันธ์กันกับจำนวนปริมาณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ คือ 4,736,249 ไร่ และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วม 42 คนด้วยกัน 

🫧ปริมาณน้ำฝนไม่ได้บอกทุกอย่าง น้ำเยอะก็ไม่ได้ท่วมเยอะทุกปี 

โดยปกติเรามักคิดว่า ถ้าฝนตกเยอะน้ำก็ต้องท่วมเยอะไปด้วย แต่จริงๆ แล้วปริมาณน้ำฝนจะมากหรือน้อยในแต่ละปี ไม่ได้บอกเราชัดเจนขนาดนั้นว่าปีนั้นเราจะเผชิญกับน้ำท่วมแค่ไหน คือท่วมแน่ๆ ส่วนหนักไม่หนักเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าลักษณะของการท่วมหนักอาจเกิดขึ้นได้หลากหลาย และการจัดการรับมือที่แตกต่างกันออกไป 

อย่างเช่น ในปี 54 น้ำท่วมใหญ่มีปริมาณน้ำฝนมากถึง 1,824 มิลลิเมตร หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้น้ำท่วมในปีนั้น เป็นเพราะว่ามีพายุหลายลูกพัดผ่านในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน จึงทำให้มีจำนวนน้ำฝนกระจุกมาก และไม่สามารถระบายได้ทัน ส่วนในปี 60 เองที่มีปริมาณน้ำฝนเยอะเท่าปี 54 น้ำก็ไม่ได้ท่วมทั้งประเทศเหมือนกัน แต่กลับไปท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปีที่อีสานโดยเฉพาะจังหวัดสกลนครแทน ส่วนปีอื่นๆ ที่มีปริมาณน้ำฝนอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน คือ 1,300-1,400 มิลลิเมตร ก็ดูจะประสบภัยพอๆ กัน คือมีพื้นที่เสียหาย 2-5 ล้านไร่ มีผู้เสียชีวิต 10-30 คน ยกเว้นในปี 59 ที่ปริมาณน้ำเท่าๆ กันคือ 1,474 มิลลิเมตร แต่กลับมีจำนวนผู้เสียชีวิตก้าวกระโดดไปเป็นร้อยกว่าราย 

นอกจากประเด็นน้ำท่วม สถิติทั้ง 15 ปีนี้ยังบอกเราถึงปัญหา ‘น้ำแล้ง’ อีกด้วย มีหลายปีที่สะท้อนภาพประเทศไทยที่ขาดน้ำ เช่น ในปี 58 และปี 62 ที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ คือ 1,247 และ 1,218 มิลลิเมตร ส่งผลกระทบในด้านอื่นๆ ไม่แพงกันกับน้ำท่วม นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าตั้งแต่ปี 66 เป็นต้นมา ประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์ร้อนแห้งแล้ง และขาดน้ำรุนแรงกว่าเดิม และอาจจะแล้งหนักอีกในไม่กี่ปีข้างหน้า นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกันให้ทัน 

🌊ไม่ว่าจะฝนตกน้อย ฝนตกมาก ก็ล้วนสร้างผลกระทบน้ำท่วมทุกปี 

หรือจริงๆ ถ้าลองดูในแต่ละปี เราจะพบว่าส่วนใหญ่แล้วสัมพันธ์กัน คือถ้าปีไหนมีฝนตกเยอะ น้ำก็ท่วมเยอะตามไปด้วย ตรงนี้ก็ดูจะเมคเซนส์ดี แต่เมื่อลองเอาหลายๆ ปีมาเปรียบเทียบกัน เราพบว่ามีจุดที่น่าสังเกตด้วยกัน 3 อย่าง คือ

ปริมาณน้ำฝนใกล้กัน แต่พื้นที่ได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน

มี 2 ปีที่มีระดับปริมาณน้ำฝนใกล้เคียงกันแต่ผลกระทบแตกต่าง คือปี 2554 น้ำท่วมใหญ่ และปี 2560 มีปริมาณน้ำฝนเท่ากันที่ 1,824 มิลลิเมตร แต่ปริมาณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบของปี 2560 กลับน้อยกว่าเกือบครึ่ง คือในปี 60 มีเพียง 16 ล้านไร่เท่านั้น แต่ปี 54 พุ่งไปถึง 30 ล้านไร่ รวมถึงจำนวนผู้เสียชีวิตเองก็ต่างกันในระดับร้อยและพันกันเลยทีเดียว 

ปริมาณน้ำฝนเยอะ แต่ผลกระทบไม่ได้เยอะตาม 

ปี 65 เป็นปีที่มีปริมาณน้ำฝนเยอะที่สุดคือ 1,848 มิลลิเมตร แต่จาก 15 ปีที่ผ่านมา ปี 65 มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นอันดับ 5 คือประมาณ 12 ล้านไร่เอง ตลอดจนมูลค่าความเสียหายอื่นๆ ก็น้อยกว่าด้วยเหมือนกัน อาจแปลว่าฝนตกเยอะไม่ได้แปลว่าจะเสียหายเยอะเสมอไป 

ปริมาณน้ำฝนน้อย แต่ผลกระทบกลับไม่น้อยตาม 

ลองเอาปีที่น้ำน้อยมาเทียบบ้าง คือปี 2558 และ 2562 มีปริมาณน้ำไม่ต่างกันมาก คือ  1,247 และ 1,218 มิลลิเมตร ตามลำดับมาเทียบกัน เราพบว่าปี 62 มีความเสียหายมากกว่าและมีพื้นที่ที่น้ำท่วมมากกว่าอีกปีเกือบ 8 เท่าเลย 

อย่างที่เห็นว่าในแต่ละปี เรื่องของน้ำเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะจะคาดเดาไม่ได้เลย บางปีอาจจะท่วมหนักทั้งที่ฝนไม่มากเท่าปีก่อน หรือบางปีกลายเป็นปัญหาแล้งจัดไปแทน เพราะฉะนั้นแล้วประเด็นหลักๆ ของปัญหาน้ำท่วมอาจไม่ได้อยู่แค่ปริมาณน้ำฝนปีนี้มีมากหรือน้อย แต่อาจจะขึ้นอยู่กับการจัดการของปีนั้นๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์แทน 

💧แผนการรับมือ และระบบการจัดการน้ำ ควรเหมาะสมตั้งแต่ฝนหยดแรก จนน้ำกลุ่มสุดท้าย

เพราะการจัดการน้ำไม่สามารถมาเริ่มทำตอนที่น้ำไหลเข้าบ้านเรามาครึ่งแข้ง แต่ควรจัดการตั้งแต่ยังไม่มีน้ำสักหยดตกลงมาจากฟ้า และต้องทำไปจนถึงช่วงที่น้ำผ่านไปแล้วด้วย สำหรับประเทศไทยตอนนี้ เรามีแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) มีที่การจัดการไปแล้วบางส่วน ไม่ว่าจะ ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ 110 แห่ง มีการปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติ 223 แห่ง เพิ่มระบบป้องกันชุมชนเมือง 3 แห่ง และเพิ่มเขื่อนป้องกันตลิ่ง 59 กิโลเมตร

ข้อมูลจาก Floodinfo แนะนำถึง 3P ที่ควรมี คือ Prevention (ป้องกัน) Protection (ปกป้อง) และ Preparedness (เตรียมพร้อม)  สำหรับ P แรก Prevention ประกอบไปด้วยการจัดการด้านการพัฒนาผังเมืองอย่างยั่งยืน มีการวางแผนการเติบโตของเมืองโดยใส่ ‘น้องน้ำ’ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ตลอดจนมองไปถึงเรื่องระบบการระบายน้ำ การเพิ่มพื้นที่สำหรับดูแลผู้ประสบอุทกภัยในเมืองที่มากขึ้น และการให้ความสำคัญกับพื้นที่ธรรมชาติเพื่อรับน้ำมากขึ้นในเมือง

Protection สิ่งที่เราต้องทำเพื่อป้องกันน้ำท่วมมีด้วยกันหลายอย่าง เช่น การเลือกใช้โครงสร้างหนัก เขื่อน ทางบังคับน้ำ กำแพง หรือพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติ และต้องมั่นใจว่าโครงสร้างการระบายน้ำทั้งมดในเมืองสามารถใช้งานได้จริง มีการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ โดยการป้องกันนี้ต้องครอบคลุมตั้งแต่สเกลใหญ่จนถึงระดับเล็กๆ เช่น ชุมชน ตรอกซอกซอย

ส่วน P สุดท้าย คือ Preparedness สิ่งที่เราต้องเตรียมก่อนจะฝนตกและน้ำท่วม ไม่ว่าจะการพยาการณ์และการแจ้งเตือนที่สามารถเข้าถึงได้ทุกคน ทั้งในช่วงมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตและไม่มี ไปจนถึงแผนการอพยพฉุกเฉิน และการเข้าช่วยเหลือดูแลทั้งในระดับบุคคลและระดับชุมชนต้องให้เพียงพอและเหมาะสม 

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญและเมืองควรทำที่จะช่วยให้ P สุดท้ายของเราดีขึ้น พร้อมส่งผลต่อ P อื่นๆ คือการจัดเก็บข้อมูลที่ดีจะช่วยให้เราสามารถประเมินสถานการณ์น้ำได้ และจะดีกว่าเดิมถ้าหากว่าประชาชนทั่วไปเองก็สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้เหมือนกัน เพื่อให้การทำงานในส่วนของประชาสังคมสามารถดำเนินควบคู่กันไปกับภาครัฐและอื่นๆ ได้ 

🫧ฝนเอย ทำไมจึงตก ฝนตกเพราะโลกมันร้อน

จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องดูถึง 15 ปีที่ผ่านมาก็ได้ แค่มองย้อนเพียงช่วงเดือนที่ผ่านมา เราเจอปัญหาน้ำท่วมที่สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินนับล้านในหลายพื้นที่ทั่วโลก  ไม่ว่าจะโซนยุโรปกลาง ญี่ปุ่น  อินเดีย และอื่นหลายแห่งทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่เรื่องของประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับโลกไปแล้ว 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราเจอกับความแปรปรวนอยู่ตอนนี้เป็นผลมาจากสถานการณ์โลกเดือด แค่ปัจจุบันโลกกำลังร้อนเพิ่มขึ้นเพียง 2 องศา ก็ทำให้ฝนที่เคยตกหนักแค่ 1 ครั้งในรอบ 10 ปี ก็ตกบ่อยขึ้นเป็น 2 เท่าแทน ส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้นถึง 14% และแน่นอนว่าหากโลกร้อนเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จะยิ่งทำให้กลุ่มฝนใหญ่เพิ่มปริมาณ และมาถี่กว่าเดิมได้

แล้วฝนเอย ทำไมไม่ตก ก็เพราะว่าโลกร้อนเหมือนกัน สถานการณ์ที่แปรปรวนของโลกส่งผลให้มีช่วงฤดูฝนสั้น และหายไปนาน กลายเป็นภัยแล้งขึ้นมาแทน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังเสี่ยงเผชิญกับภัยแล้ง เช่นเดียวกับกันอีกหลายๆ ประเทศที่กำลังเผชิญ เช่น ทวีปยุโรปที่ร้อนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ หรือช่วงปี 57-58 ที่ทวีปแอฟริกาใต้ก็แล้งสุดๆ เหมือนกัน

นั่นแปลว่าจริงๆ แล้วเราเอาแน่นอนอะไรกับอากาศไม่ได้เลย สิ่งที่เราควรทำได้ตอนนี้อาจเป็นได้แค่การปรับตัวและเฝ้าระวัง ตลอดจนไม่ทำอะไรให้สถานการณ์เลวร้ายไปมากกว่าเดิม 

อีกหลายประเด็นน่าสนใจใน Data Story!

🛵 ขนส่งแค่หลักร้อย ทำมอ’ไซค์ล้นหลักล้านเมื่อระบบขนส่งสาธารณะไม่ตอบโจทย์ ผู้ประกอบการมีไม่พอ ท้ายสุดประชาชนต้องพึ่งพาตัวเอง

Happy Life, Happy City ใช้ชีวิตที่เมืองไหนให้เรามีความสุขมากที่สุด

Infographics: การจัดการกับงบประมาณโฆษณาจากภาครัฐและเอกชนขององค์กรสื่อ: สู่การสร้างธรรมเนียมปฏิบัติที่มีจริยธรรมและโปร่งใส

อ้างอิง 

https://www.thaiwater.net/uploads/contents/current/YearlyReport2023/flood_area.html

https://www.thaiwater.net/uploads/contents/current/YearlyReport2023/rain2.html

https://theactive.net/data/managing-water-to-cope-with-global-warming

https://www.floodinfo.ie/about_frm/flood_risk_measures

https://nationalfloodforum.org.uk/about-flooding/recovering/coping-with-flooding

https://www.dw.com/en/in-the-aftermath-of-flooding-in-germany-and-elsewhere-5-charts-to-help-explain-climate-science/a-69289787#:~:text=While%20flooding%20is%20a%20global,%2D%20and%20middle%2Dincome%20countries.

https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/100523