ดูจบแล้วแต่ทำไมต้องลุ้นต่อ ขุดดาต้า 100 ซีรีส์ดังจาก Netflix กับโอกาสไปต่อของซีรีส์เรื่องโปรด
แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งกำลังเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เรามีหลากหลายเจ้าให้เลือกดู แต่หนึ่งในเจ้าที่ครองตลาดใหญ่และอยู่มานาน หนีไม่พ้นชื่อ ‘Netflix’ เต็มไปด้วยภาพยนตร์และซีรีส์ดังหลายเรื่อง รวมถึงผลงาน Original ที่ทาง Netflix ร่วมผลิตขึ้นมาเองด้วยเหมือนกัน
Netflix มีสมาชิกทั้งหมด 282.7 ล้านคนทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วถึง 5.1 ล้านคนด้วยกัน จำนวนแพลตฟอร์มกระจายตัวไปทั่วโลกทั้ง 190 ประเทศ สะท้อนให้เราเห็นว่า Netflix กำลังเป็นที่นิยมมากไปทั่วโลก นอกจากนี้แล้ว หากดูว่าซีรีส์ Original จากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งนี้ ก็จะยิ่งเห็นว่าถูกผลิตออกมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ มีรูปแบบที่หลากหลาย มีประเภทที่กว้างมากขึ้น รวมถึงภาษาที่ไม่ได้มีแค่ภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาหลักไม่กี่ภาษาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าซีรีส์ของทาง Netflix จะมีการผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ใช่ทุก เรื่องที่จะมีโอกาสได้ไปต่อในซีซั่นหน้า อาจจะด้วยสาเหตุบางประการเกี่ยวกับการถ่ายทำ ทุน หรือกระแสไม่ดีอย่างที่คาดหวังไว้จนทำให้ Netflix ต้องประกาศยกเลิกโชว์นั้น หรือจริงๆ แล้วมีสาเหตุอื่นที่ซ่อนอยู่ในการได้ไปต่อและไม่ได้ไปต่อของซีรีส์เหล่านี้
DataHatch ตั้งคำถามถึงโอกาสของการได้ไปต่อและไม่ได้ไปต่อ สัมพันธ์อย่างไรกับเรตติง การพูดถึง หรือกระแสของซีรีส์เรื่องนั้นๆ ตลอดจนเรื่องของระยะเวลาต่อ 1 ตอนทั้งหมดนี่เป็นส่วนที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนั้นได้มาฉายซีซั่นหน้าไวขึ้นหรือเปล่า เราเลยหยิบข้อมูลจาก IMDb ที่รวบรวมซีรีส์ทั้งหมด 3,801 เรื่อง ของ Netflix แล้วนำมาเรียงตามลำดับเรตติงที่ดีที่สุดไล่มา 100 อันดับแรก เพื่อดูว่า 100 อันดับแรกที่คนให้ความสนใจมากที่สุดคือเรื่องอะไร และมีเรตติงเท่าไร รวมถึงอยู่ในประเภทไหนของหนัง ตลอดจนระยะห่างระหว่างซีซั่น เพื่อให้เห็นทั้งภาพรวมของความนิยมของซีรีส์ ไปจนถึงเจาะลึกลงไปในซีรีส์เรื่องดังที่ได้ไปต่อ และเรื่องดังที่ดันไม่ได้ไปต่อ
5 ซีรีส์เรื่องดัง กระแสดีทั่วโลก จนได้ไปต่ออย่างน้อย 3 ซีซั่น

ก่อนจะไปดู 100 เรื่องแรก ชวนมาดู 5 เรื่องแรกที่มีคนพูดถึงเยอะที่สุดกันก่อน โดยส่วนใหญ่ได้ไปต่อกันอย่างน้อย 3 ซีซั่น ยกเว้น Queen Gambit ที่ถูกพูดถึงเป็นอันดับ 3 แต่เราไม่ขอนับใน 5 เรื่องแรกด้วย เพราะว่าเรื่องนี้ตั้งใจมาเป็นเพียงแค่ Mini Series อยู่แล้วจึงไม่มีภาคต่อ
เริ่มต้นกันด้วย อันดับหนึ่งเรตติงพุ่งไปถึง 8.7 กับ ‘Stranger Things’ ซีรีส์ไซไฟสยองขวัญคลาสสิกย้อนยุค 1980 ได้รับการตอบรับล้นหลามตั้งแต่ภาคแรก ฉายในปี 2016 ห่างจากซีซั่น 5 มากถึง 9 ปี โดย 2 ซีซั่นแรกห่างกันแค่ปีเดียว แต่พอซีซั่น 3 เริ่มห่างออกไป 2 ปี และห่างเรื่อยๆ เพราะต้องรออีก 3 ปีถึงจะได้ดูซีซั่น 4 และอีก 3 ปีกับซีซั่น 5 โดยสาเหตุหนึ่งที่ซีซั่น 5 ออกมาช้า เพราะผู้กำกับตั้งใจถ่ายทำในลักษณะของภาพยนตร์ นอกจากนี้แล้ว Stranger Things ยังติดการประท้วงหยุดงานของนักเขียนที่ฮอลลีวู้ดในช่วงกลางปี 2023 จึงทำให้การถ่ายทำหยุกชะงักลงประมาณเกือบปีอีกด้วย
ถัดมาทีอันดับสองกับ ‘Black Mirror’ ซีรีส์จากเกาะอังกฤษ สะท้อนด้านมืดของเทคโนโลยี มาพร้อมเรตติง 8.7 เช่นกัน ปล่อยภาคแรกเมื่อปี 2011 ห่างกับซีซั่นล่าสุดถึง 14 ปี มีมากแล้วมากกว่า 7 ซีซั่น โดยแต่ละซีซั่นทิ้งช่วงห่างกันที่ประมาณ 2 ปี มีเพียงแค่ซีซั่น 3 และ 4 เท่านั้นที่ห่างกันเพียงแค่ 1 ปี เพราะมีประเด็นด้านลิขสิทธิ์จึงทำให้การถ่ายทำต้องชะงักลงไปช่วงระหว่างซีซั่น 6 และ 7
อันดับถัดมา 4, 5 และ 6 เป็นซีรีส์ 3 เรื่องที่มีระยะห่างจากซีซั่นแรกและล่าสุดเท่ากัน คือ 4 ปี แต่มีระยะห่างของแต่ละซีซั่นไม่เท่ากัน อันดับ 4 คือเกมเอาตัวรอดจากเกาหลี เป็นกระแสไวรัลทั่วโลก เรตติงสูงถึง 8 อย่าง ‘Squid Game’ ฉายครั้งแรกในปี 2021 ห่างจากซีซั่นปัจจุบันแค่ 4 ปี โดยซีซั่นแรกห่างจากซีซั่นที่ 2 อยู่ 3 ปีด้วยกัน ส่วนซีซั่น 2 และ 3 นั่นห่างกันประมาณเกือบๆ ปี เพราะว่าจริงๆ เป็นซีซั่นเดียวกัน ถ่ายทำพร้อมกัน แต่เลือกระยะการปล่อยฉายห่างกันแทน ทำให้แฟนๆ อดใจรอยาวๆ แค่ครั้งเเดียว และก็ทนอีกนิดเดียวก็จะได้ดูตอนสุดท้ายของซีรีส์กัน
ส่วนอันดับ 5 อย่าง ‘The Witcher’ ซีรีส์แฟนตาซีมหากาพย์สุดยิ่งใหญ่ เรตติงพอๆ กันคือ 8 ฉายภาคแรกในปี 2019 ถึงปัจจุบันห่างกัน 4 ปี โดยแต่ละช่วงปีมีระยะห่างจากกัน 2 ปี เท่าๆ กัน ส่วนซีซั่น 4 ที่กำลังจะปล่อยออกมานั้น ยังไม่มีการระบุว่าจะมาในช่วงปีไหน หนึ่งในปัญหาที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ออกฉายช้า เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปี 2019-2020 จึงทำให้ซีซั่น 2 ของเรื่องนี้ออกมาช้ากว่ากำหนด
ท้ายสุดกับอันดับ 6 ‘Money Heist’ เรตติง 8.2 ฉายครั้งแรกเมื่อปี 2017 โดยภาคแรกถึงปัจจุบันห่างกัน 4 ปี ตอนนี้มีด้วยกัน 4 ซีซั่นด้วยกัน โดยระหว่างซีซั่นแรกและสองห่างกัน 2 ปี แต่หลังจากนั้นมาระยะห่างระหว่างซีซั่น 2 เป็นต้นมาห่างกันเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเรตติงดัง มีกระแสการพูดถึงทุกครั้งที่ออก แต่ซีรีส์เรื่องนี้ก็ไม่ได้ไปต่อถึงซีซั่น 6 ด้วยกัน
จาก 5 ซีรีส์เรื่องดังที่เราหยิบมาส่องดู พบว่าเรตติงพอๆ กัน คือ 8.7- 8 ไม่ต่ำไปมากกว่านี้ ระยะเวลาการรอคอยก็ประมาณ 1-2 ปี ที่แฟนๆ ยังสามารถอดทนรอได้ และอาจจะมีบางช่วงบ้างที่รอนานกว่านิดหน่อย ด้วยปัญหาเฉพาะเรื่องที่แตกต่างกันไป แต่การที่มีเรตติงออกมาดีก็ไม่ได้เป็นหลักประกันได้ชัดเจนว่าเรื่องนั้นๆ อาจจะได้ไปต่อในซีซั่นหน้า
ดูจบ 1 คืน เรตติงดีแค่ไหนก็ต้องรออย่างน้อยอีก 1 ปี

เพราะซีรีส์แต่ละเรื่องของ Netflix สนุก น่าติดตาม และชวนให้ติดงอมแงม แต่ปัญหาคือหลังจากเราดูจบ 1 ซีซั่นแล้ว เราก็อยากจะรีบดูซีซั่นต่อไปให้ไวๆ แต่กว่าจะมาต่อสักซีซั่นได้ก็รู้สึกรอนานเป็นชาติ แต่จากดาต้าของ 100 เรื่องแรก บอกว่า จริงๆ แล้วระยะเวลาที่ห่างกันจากซีซั่นแรกและซีซั่นล่าสุดของแต่ละเรื่องโดยเฉลี่ย ห่างกันอยู่ที่ประมาณ 3 ปีเท่านั้น คือถ้าซีรีส์ไหนมีด้วยกัน 3 ซีซั่น ก็แปลว่าจริงๆ เราอาจจะได้ดูซีรีส์เรื่องนั้นกันทุกๆ ปีเลย
และสำหรับช่วงระยะเวลาเฉลี่ยที่ซีรีส์ซีซั่นหนึ่งห่างกับซีซั่นถัดไปของ 100 เรื่องแรกห่างจากกันประมาณ 1 ปีเท่านั้นเอง มีบางเรื่องที่รอคอยนานกว่าคนอื่น เช่น Arrested Development ใช้เวลารอต่อซีซั่นประมาณ 3.2 ปี Master of None และ Black Mirror 2 ปี แต่ส่วนใหญ่แล้วประมาณ 1 ปี 1 เดือน เราก็จะได้ดูซีซั่นถัดไปของซีรีส์โปรดแล้ว แต่ว่าคอหนัง คอซีรีส์รู้กันว่าเวลาซีรีส์เรื่องโปรดออกมาสักที เราต้องดูให้จบภายในคืนเดียว เพราะใครมันจะอดใจค่อยๆ ดูคืนละตอนได้ไหวกัน เพราะฉะนั้นแล้ว เวลาบ่นว่าซีรีส์ไม่มาต่อสักที อาจจะไม่ใช่เพราะการถ่ายทำที่ช้าเสมอไปก็ได้ เพราะถ้าดูจากดาต้าก็รอเพียงไม่กี่เดือน – ปีกว่าๆ สาเหตุที่ไม่มีอะไรจะดูก็อาจเป็นเพราะเราดูจบไวเกินไปเองก็ได้
สนุกและสร้างสรรค์กว่าเดิม เพราะร่วมมือสร้างกันหลายประเทศ

Netflix คือบริษัทสัญชาติสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ใช่ว่าทุกโชว์ของ Netflix มาจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เพราะหนึ่งในนโยบายที่ชูขึ้นมาคือเรื่องของการผลิตผลงานจากหลายๆ ประเทศ เพราะ Netflix มองว่าภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่ดี ต้องไม่ถูกจำกัดการผลิตแค่บางประเทศเท่านั้น อีกทั้งยังหนึ่งในการตลาดที่ช่วยขยายฐานแฟนๆ Netflix ให้กระจายวงกว้างออกไปมากขึ้นกว่าภาพยนตร์หรือซีรีส์ภาษาอังกฤษเท่านั้น
จาก 100 เรื่องแรกเหมือนเดิม เราพบว่าอันดับแรกที่มีเยอะที่สุดคือสหรัฐอเมริกากับราชอาณาจักร 8 เรื่องด้วยกัน เรื่องที่เราคุ้นๆ หูก็เช่น Black Mirror, Sex Education, The Crown และ Heartstopper รองลงมาทำงานร่วมกับแคนาดา 3 เรื่อง ได้แก่ The Killing, Big Mouth และ Locke & Key ถัดมาอีกคือ สหรัฐอเมริการ่วมกับโปแลนด์ คือ Cyberpunk: Edgerunners และ 3 ประเทศร่วมกัน คือสหรัฐฯ โปแลนด์ และฮังการี มีเรื่องเดียว คือ The Witcher และมีบางเรื่องที่มีประเทศเข้าร่วมกันมากถึง 4 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้ โดยกลายมาเป็นซีรีส์ 3 เรื่องคุ้นหูอย่าง The Sandman, One Piece และ Baby Reindeer ที่มีรางวัล Golden Globe for best miniseries มารองรับความปังของซีรีส์เรื่องนี้
ส่วนของไทย เรามีโชว์ที่ทำร่วมกับ netflix ด้วยกันหลายเรื่อง ไม่ว่าจะ สืบสันดาน เคว้ง เด็กใหม่ 1 และ 2 สาธุ และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง โดยล่าสุด ทาง Netflix เอง เพิ่งได้มีการประกาศถึง ‘ทีไทยทีมันส์ 2025’ Netflix ส่ง 6 ภาพยนตร์ 3 ซีรีส์ใหม่ จ่อคิวรอเสิร์ฟให้เราได้ดูกันในปีนี้ โดยซีรีส์ 3 เรื่องที่ว่า ได้แก่ สาธุ 2 ซีรีส์ตีแผ่ประเด็นระหว่างศรัทธา ความเชื่อ และพุทธพาณิชย์ ซีรีส์สืบสวนสอบสวน ดาหลา บุปผา ฆาตรกรรม และท้ายสุดคือ สงคราม ส่งด่วน เรียกได้ว่าไทยก็ยังมีซีรีส์ที่ยังได้ไปต่อกับ Netflix อยู่เหมือนกัน
ความสนใจกว้างขึ้น ประเภทซีรีส์เลยหลากหลายตาม

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นกว่าเดิม จาก 100 เรื่องแรกนั้นเราเลยเอามาแบ่งเป็นช่วงยุค 3 ยุค ด้วยกัน คือยุคเริ่มต้น 2010-2014 ยุคกลาง 2015-2019 และยุคปัจจุบัน 2020-2025 เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของแต่ละช่วงยุค
ในประเด็นแรก คือ Genres (ช็อง) หรือประเภทของซีรีส์ในแต่ละยุคแตกต่างกันอย่างไรบ้าง โดยในซีรีส์ 1 เรื่อง สามารถประกอบไปได้ด้วยประเภทที่มากกว่าหนึ่งได้เหมือนกัน จากดาต้าบอกว่า ช่วงยุคแรกๆ Netflix ผลิตแนวดราม่าออกมาเยอะที่สุด 7 จาก 8 เรื่อง รองลงมาคือ อาชญากรรม และคอมเมดี้ ส่วนที่เหลือ เช่น ลึกลับ สยองขวัญ แอคชั่น ผจญภัย พอๆ กันไม่ได้มีใครกระโดดต่างออกมามาก แปลได้ว่าส่วนมากของซีรีส์ช่วงแรกนั้นเน้นเรื่องดราม่าเป็นหลัก เรื่องเดียวที่เป็นคอมเมดี้ ไม่ผสมดราม่าและประเภทอื่นๆ คือ Arrested Development
ยุคถัดมา Netflix ก็ยังคงมีประเภทดราม่านำเป็นอันดับแรกเหมือนเดิม คือ 43 เรื่องจาก 50 เรื่องด้วยกัน ประเภทรองลงมาคือ อาชญากรรมและระทึกขวัญเท่ากันที่ 21 เรื่อง และตามมาด้วยแอคชั่นอีก 18 เรื่อง จะเห็นได้ว่าในช่วงนี้ Netflix เริ่มเพิ่มความระทึกเร้าใจมากขึ้นไปกว่าเดิม นอกจากนี้แล้วยังมีการเพิ่มประเภทอื่นๆ ที่น่าสนใจเข้ามา เช่น โรแมนซ์ 2 เรื่อง คือ Heartstoppers และ Emily in Paris ประเภทชีวประวัติ เช่น Monsters และ Baby Reindeer สารคดีอย่าง The Last Dance, Tiger King: Murder, Mayhem and Madness และ Queen Cleopatra สยองขวัญ อย่างเช่น The Watcher และ All of Us Are Dead อีกด้วยเหมือนกัน โดยในช่วงนี้มีซีรีส์ที่มีประเภทเยอะสุดคือ 11 ประเภท เรื่องเดียว คือ Love, Death & Robots เพราะเป็นทั้งอนิเมชันขนาดสั้น แบ่งเป็นตอนที่เล่าเรื่องหลากหลาย ทั้งไซไฟ ระทึกขวัญ แอคชั่น และแฟนตาซี
ส่วนในปัจจุบัน เรากำลังได้ดูดราม่าเยอะที่สุดเหมือนเดิมอย่างไม่ต้องแปลกใจ เพราะไม่ว่าจะช่วงเวลาไหนเราก็จะยังชอบความดราม่าเหมือนเดิม ในยุคนี้เรามีดราม่าด้วยกันทั้งหมด 37 เรื่องจาก 42 เรื่อง เทียบสัดส่วนแล้วเพิ่มกว่ายุคกลางประเภท 2% ส่วนประเภทถัดมาคือ ประเภทลึกลับ 17 เรื่อง และระทึกขวัญอีก 14 เรื่อง นอกจากนี้ถ้าเทียบกับยุคกลาง จะเห็นได้ว่ามีหลายประเภทที่น้อยลงไป เช่น โรแมนซ์ ไซไฟ แอคชั่น ไปจนถึงคอมเมดี้ด้วย ก็อาจจะแปลได้ว่าช่วงนี้คนชอบเสพดราม่าที่ผสมกลิ่นอายความลุ้นระทึกเล็กๆ เข้าไปมากกว่ายุคก่อน
การแบ่งเป็นช่วงๆ ทำให้เห็นว่าความต้องการของผู้ชมในการเลือกประเภทซีรีส์ที่อยากดูเปลี่ยนไป สะท้อนออกมาผ่านซีรีส์ที่ออกฉายในแต่ละช่วง นอกจากนี้แล้ว ยังมีข้อมูลจากรีพอร์ตของ Future of Series เซอร์เวย์ชาวอเมริกันกว่า 3,000 ราย ถึงแนวโน้มที่เปลี่ยนไปของผู้ชม ว่าต้องการดูซีรีส์ หรือเบื่อแล้วกับซีรีส์ประเภทไหน โดยรีพอร์ตฉบับนี้สรุปออกได้ 4 ข้อด้วยกัน คือ
- ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่อยากดูซีรีส์ที่มีประเด็นด้านความขัดแย้งทางวัฒนธรรม เช่น เพศ เชื้อชาติ ความขัดแย้งทางศาสนาและอุดมการณ์ มากเท่าเดิม รวมถึงวิธีการนำเสนอที่แบ่งด้านชัดเจน
- ซีรีส์เกี่ยวกับเทคโนโลยี อวกาศ และโลกในอนาคต เริ่มไม่ใช่อนาคตอีกต่อไป เช่น Black Mirror หรือ 3 Body Problem เพราะตอนนี้กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริง แต่อยากดูในแง่ของความเป็นมนุษย์ ความกลัวและตื่นตระหนก แต่ก็ยังมีหนทางเอาตัวรอดได้
- กลุ่ม Millennial ช่วงวัยที่มีเยอะสุดสุดของสหรัฐฯ บอกว่าอยากดูอะไรที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัว และเอาตัวรอดในวันสิ้นโลกมากกว่า
- ท้ายสุด แตกต่างจากข้ออื่น คือกลุ่มบูมเมอร์ หรือกลุ่มวัยเกษียณเนี่ย กลับอยากดูเรื่องที่เกี่ยวกับความสุข ความมั่นคง และเห็นคาแรคเตอร์ที่มีช่วงอายุใกล้เคียงกับตัวเองบนหน้าจอมากขึ้นกว่าเดิม
พฤติกรรมคนเปลี่ยน ความคาดหวังสูง สู้กับเรตติงยากขึ้น

นอกจากนั้นแล้ว เราพบว่า ใน 100 เรื่องนี้ มีระยะเวลาต่อ 1 ตอนของซีรีส์ส่วนใหญ่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที 48 นาทีต่อตอน แต่ 5 เรื่องแรกที่เรายกตัวอย่างไปตามด้านบน มีความยาวต่อตอนอยู่ที่ 60 นาทีหมดเลย ทีนี้หากเราถ้าแบ่งดูตาม 3 ช่วง เราจะพบว่าช่วงแรกมีระยะเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 43 นาทีต่อตอน ช่วงกลางและช่วงปัจจุบันมีระยะเวลาเฉลี่ยต่อตอนเทากันคืออยู่ที่ 49 นาที แปลว่าเราได้ดูหนึ่งตอนยาวขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะได้ดูตอนๆ หนึ่งนานขึ้นกว่าเดิม แต่ผู้ชมอาจจะไม่ได้พอใจขนาดนั้น เพราะเมื่อมองเรื่องของเรตติง เรากลับพบว่าในช่วงยุคแรกๆ Netflix มีกระแสเรตติงดีกว่า คือ เฉลี่ยที่ 8.7 ยุคกลาง 8.1 แต่พอมาเป็นช่วงปัจจุบัน กลับมากระแสเพียงแค่ 7.3 เท่านั้นเอง
เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะ พฤติกรรมอย่าง Binge-watching หรือเรียกง่ายๆ ว่า การดูแบบถ้าไม่จบทั้งซีซั่นในคืนนี้ เราจะไม่นอน เพื่อเสิร์ฟพฤติกรรมของกลุ่มคนเหล่านี้ ผู้จัดซีรีส์อาจจะต้องย่นระยะเวลาต่อตอนให้กระชับ แต่ยังได้เรื่องราวที่เข้มข้น ครบถ้วนเหมือนเดิม เพื่อให้สามารถดูจบได้ภายในหนึ่งหรือสองคืนเท่านั้น อีกทั้งเพราะ Netflix ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบการออนแอร์เหมือนทีวีโชว์ในสมัยก่อน ที่ต้องมีตารางการลงชัดเจนว่าเป็นวันไหน อาทิตย์ไหน โดยรูปแบบนี้มักใช้ระยะเวลามากกว่า 3 เดือนกว่าจะจบซีรีส์หนึ่งเรื่อง แต่เพราะแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งสามารถปล่อยได้จนจบซีซั่นในครั้งเดียว จึงง่ายต่อการ Binge-Watching อย่างมาก
หรืออาจเป็นไปได้ว่าเพราะความคาดหวังของคนสูงมากขึ้น พื้นที่ทางเลือกในตลาดก็มีมากขึ้น หากซีรีส์ยังคงนำเสนอพล็อตเดิมๆ ที่เดาทางได้ ผู้ชมก็อาจจะย้ายไปดูเรื่องอื่นแทน ตลอดจนพฤติกรรมอื่นๆ ที่ทำให้ไม่ได้ต้องการซีรีส์เรื่องยาวที่แต่ละตอนมีความยาวเกือบๆ ชั่วโมง เช่น การใช้ Netflix เป็นพื้นที่ second screen คือแม้ว่าจะมีการเปิดซีรีส์เรื่องโปรด แต่สมาธิของคนดูก็ไม่ได้จดจ่อกับมันตลอดทั้งตอน อาจจะมีแว้บไปหยิบจับสมาร์ทโฟนบางเล็กน้อย ไม่ว่าจะเรื่องการอยากดูทั้งหมดเร็วๆ การดูไปไถโทรศัพท์ไป หรือเรื่องราวที่ไม่ดึงดูดพอ ทั้งหมดนี้ก็อาจทำให้ Netflix ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอซีรีส์ในอนาคต
17 เรื่องไม่ได้ไปต่อ สาเหตุมากกว่าแค่ ‘ดังไม่พอ’

แต่มีขึ้นก็ต้องมีลง บางซีรีส์ของ Netflix ก็ไม่ได้เป็นขาขึ้นและได้ไปต่อทุกเรื่อง จาก 100 เรื่องแรก แม้ว่าจะมีกระแสและมีการพูดถึง เรตติงอยู่ในระดับ 7 ขึ้นไป มี 6.5 บ้างเล็กน้อยไม่กี่เรื่อง แต่กระแสดีก็ไม่ได้การันตีได้แน่นอนว่าจะมีภาคต่อ เพราะมีด้วยกันถึง 17 เรื่องที่ทาง Netflix ประกาศยกเลิกการถ่ายทำและสร้างภาคต่อเรียบร้อยแล้ว
ประเด็นนี้ก็น่าสนใจ เพราะ Netflix ขึ้นชื่อในเรื่องของการยกเลิกโชว์อย่างรวดเร็ว คือบางเรื่องอาจจะฉายเพียงแค่ 1 ซีซั่น และประกาศลาจอเลยก็ได้ นโยบายของ Netflix มักเลือกตัดสินใจด้วยการใช้ Data-driven เป็นหลัก หนึ่งในการวัดค่าคือการดูว่าซีรีส์เรื่องนั้นมีเปอร์เซ็นที่คนพูดจนจบต่อตอนมากแค่ไหน จากสถิติพบว่าถ้าหากว่าเกิน 50% ของคนที่เลือกกดดูซีรีส์นั้น ไม่ได้ดูจนจบทั้งซีซั่นก็อาจจะเป็นไปได้ว่าซีรีส์เรื่องนั้นไม่ได้ไปต่อ หรือแปลอีกอย่างว่า ต่อให้เป็นกระแสดี มีคนพูดถึง แต่ถ้าเป็นกระแสเพียง 2-3 ตอนแรก แส่วนซีซั่นที่เหลือมีคนดูจนจบน้อยลง ก็อาจจะเป็นโอกาสที่ไม่ได้ไปต่อได้
ถึงการตัดสินใจนี้จะใช้ดาต้าเข้ามาเป็นหลักซึ่งดูจะเป็นเรื่องดี แต่บางครั้งก็อาจจะด่วนตัดสินเกินไป เพราะบางครั้งภาพยนตร์หรือซีรีส์แต่ละเรื่องต้องค่อยๆ ใช้เวลาในการบิวท์ฐานแฟนขึ้นมาเหมือนกัน คือไม่ใช่ทุกเรื่องจะสามารถเป้นปรากฏการณ์ไวรัลทั่วโลกได้ในระยะเวลาอันสั้น เหมือน Stanger Things หรือ Squid game
สำหรับ 17 เรื่องที่ไม่ได้ไปต่อนี้ บางเรื่องติดปัญหาในเรื่องของลิขสิทธิ์ คือเมื่อแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเจ้าอื่นลงสนามมาเล่นเอง ซีรีส์บางเรื่องจำเป็นต้องกลับไปฉายที่แพลตฟอร์มหลักที่เป็นเจ้าของโปรดิวเซอร์ซีรีส์เรื่องนั้นๆ ทำให้ Netflix หมดสิทธิในการฉาย จึงจำเป็นต้องยกเลิกโชว์นั้นไป เช่น Daredevil, The Punisher และ ในขณะที่บางส่วนเป็นเพราะงบประมาณที่มากจนเกินไปในการถ่ายทำ จนทำให้ต้องหยุดลง เช่น Mindhunter หรือบางครั้งก็มีสาเหตุจากเพราะภาพจำที่ติดมาจากคอมมิกเรื่องก่อน หรือซีรีส์ปรับบทจนไม่ถูกใจคนดูก็ได้เหมือนกันอย่างเรื่อง Iron Fist หรืออีกเหตุผลน่าเศร้า ตัวอย่างจาก Chilling Adventures of Sabrina ที่ต้องหยุดชะงัก และท้ายสุดปิดกองลง ไม่ได้ถ่ายทำต่อ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค Covid-19
แม้ว่าจะแค่ 17 เรื่อง จาก 100 เรื่องที่คนพูดถึงเยอะ ก็เต็มไปด้วยสาเหตุอื่นๆ มากกว่าแค่เรื่องของความดัง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโชว์ของ Netflix ที่คนไม่ได้พูดถึงเยอะและถูกยกเลิกไปอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่าจะมีการพูดถึง มีกระแสในช่วงหนึ่ง หรือแม้ว่าจะมีฐานแฟนรอดูอยู่ แต่ด้วยเหตุผลประกอบอื่นๆ ตลอดจนระบบวัดค่าของ Netflix ภายในองค์กรก็อาจส่งผลให้ซีรีส์เรื่องโปรดของเราถูกยกเลิก หรือถูกค้างทิ้งไว้ ไม่ได้ไปต่อก็ได้เช่นกัน
‘วายไทย’ รันวงการซีรีส์ ดึงดูดต่างชาติมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าซีรีส์หลายเรื่องที่ร่วมผลิตกับทาง Netflix ยังไม่เป็นกระแสหลักขนาดติดท็อป 100 เรื่องดัง แต่เราเริ่มเห็นแล้วว่าช่วงนี้วงการซีรีส์ของเราเริ่มคึกคักมากขึ้น ด้วยกระแส Boy Love และ Girl Love เป็นหลักที่กำลังพาวงการซีรีส์ไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และอื่นๆ ในเอเชีย ดึงดูดแฟนคลับต่างประเทศให้มาสนใจเรามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่า สัดส่วนซีรีส์วายต่อมูลค่าการผลิตสื่อบันเทิงของไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 0.7% เป็น 3.9% ในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 4,900 ล้านบาท สาเหตุหนึ่งเพราะสามารถเข้าถึงซีรีส์ประเภทนี้ได้ง่ายขึ้นผ่านแพลตฟอร์มตรีมมิ่ง อย่าง Netflix เองก็มีหมวดหมู่ LGBTQ Movies นี้อยู่เหมือนกัน มีทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ทั้งของไทยและต่างประเทศหลากหลายเรื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าซีรีส์บางประเภทกำลังจะเติบโต แต่ปัญหาหนึ่งที่วงการภาพยนตร์และซีรีส์ของเรายังคงติดในประเด็นหลายอย่างที่ไม่พาให้วงการได้ขยับไปข้างหน้าเท่าที่ควร ไม่ว่าจะ วิกฤติของการควบคุมและกำกับ การเซ็นเซอร์ การถูกถอนหรือการลดรอบฉายเพราะไม่ตรงกับศีลธรรมที่ควรจะเป็นในสังคม ตลอดจนเรื่องของทุนในการสร้างภาพยนตร์หรือซีรีส์เรื่องหนึ่งที่น้อยกว่ามากเมื่อเทียบสเกลกับต่างประเทศ
เพราะฉะนั้นหากจะให้เราได้มีซีรีส์ดีๆ ดูเพิ่มมากขึ้น ก็อาจจะไม่ใช่แค่การร่วมลงทุนกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ควรมีนโยบายหรือการสนับสนุนกลุ่มคนทำหนัง พร้อมเพิ่มพื้นที่ให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน