ชม ‘นก’ ในบทกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้ง ที่เราอาจไม่ได้ให้เห็นไปตลอดกาล

กาพย์อันหนึ่งที่เราเคยเรียนกันตอนเด็กๆ อย่าง ‘กาพย์เห่เรือ’ ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ที่เขียนขึ้นช่วงอยุธยาตอนปลาย กาพย์เห่เรือใช้เพื่อบอกจังหวะของฝีพาย เพื่อให้เป็นจังหวะเดียวกัน โดยการดำเนินเรื่องมีการพรรณนาตามเวลา คือ เช้า-ชมกระบวนเรือ สาย-ชมปลา บ่าย-ชมไม้ เย็น-ชมนก ค่ำ-บทครวญ จากหนังสือเรียนวรรณคดีวิจักษ์บอกว่ากาพย์เห่เรือนี้ใช้เพื่อการเดินทางไปยังสระบุรี เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาท  อาจจะพอเดๆ ว่าการล่องเรือของเจ้าฟ้ากุ้งน่าจะอยู่ในช่วงภาคกลางของไทย อย่างไรก็ตามนี้เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น เพราะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชัดเจน 

กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งถูกยกย่องว่ามีคุณค่าในงานประพันธ์หลายข้อ ไม่ว่าจะการแต่งถูกฉันทลักษณ์ การเลือกใช้คำง่าย ความหมายเด่น ทำให้คนอ่านเห็นภาพตามแถมโยงไปยังความงามของหญิงสาวคนรักได้ ทำให้กาพย์เห่เรือฉบับนี้นับว่ามีคุณค่าทั้งในแง่ของภาษา และสะท้อนค่านิยมความงามในสมัยนั้น แต่อีกเรื่องหนึ่งที่กาพย์เห่เรือสามารถสะท้อนออกมาได้ คือ ‘ธรรมชาติ’ เพราะในเนื้อเรื่องหลังชมเรือเสร็จ เจ้าฟ้ากุ้งก็เริ่มชมปลา ไม้ และนก ตามที่คาดว่าพบเจอตามทาง โดยนำมาเปรียบเปรยเข้ากับความงามของผู้หญิง การหยิบธรรมชาติขึ้นมาก็ทำให้เราเห็นถึงภาพการเดินทางที่รายล้อมไปด้วยพรรณไม้ หมู่ปลา และฝูงนกรายล้อมตามไปด้วยได้เหมือนกัน 

การยกสิ่งมีชีวิตที่มองเห็นในระยะสายตามายกย่อง เปรียบเปรยถึงความงามของหญิงสาว อาจสะท้อนได้ว่าสิ่งมีชีวิตพวกนี้สามารถหาได้ง่าย เจอได้บ่อยพอทีคนอ่านจะนึกภาพตามได้ระหว่างอ่าน แต่เมื่อเวลาผ่านมากว่า 270 ปี  DataHatch ตั้งคำถามว่า แล้วสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งนกปลาและไม้ ที่เจ้าฟ้ากุ้งเห็น ปัจจุบันเรายังมีโอกาสจะได้เห็นกันอีกสักเท่าไร เพราะตอนอ่านกาพย์ ก็นึกหน้าสัตว์หรือไม้บางชนิดไม่ออกเหมือนกัน   

Data Visualization ชิ้นนี้ ชวนอ่านกาพย์เห่เรือ บทชมนก ยามเย็นของเจ้าฟ้ากุ้ง ถอดคำประพันธ์ว่านกที่คนยุคก่อนเห็น คาดว่าจะเป็นตัวไหน และมีเรื่องราวน่าสนใจ ตลอดจนภัยจากอะไรที่ทำให้เราไม่เห็นน้องโบยบินบนฟ้าเหมือนเดิม รวมถึงสถานการณ์ของนกทั่วโลกมากกว่าแค่ในกาพย์กำลังเป็นอย่างไร 

โน้ตว่า Data Visualization ชิ้นนี้เป็นแค่ 1 ใน 3 ของเรื่องราวการเดินทางของเจ้าฟ้ากุ้งทั้งหมด ยังมีกาพย์เห่ชมปลา และกาพย์เห่ชมไม้ ที่ยังอยากให้ติดตามอ่านกัน 

นก 10 ชื่อในกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้ง 

นก 10 ชื่อในกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้ง

‘เรื่อยเรื่อยมารอนรอน ทิพากรจะตกต่ำ

สนธยาจะใกล้ค่ำ คำนึงหน้าเจ้าตาตรู

เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง นกบินเฉียงไปทั้งหมู่

ตัวเดียวมาพลัดคู่  เหมือนพี่อยู่ผู้เดียวดาย’

กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้ง คือกาพย์ห่อโคลง ต้องขึ้นต้นด้วยโคลง 1 บท และตามด้วยกาพย์ โดยบทชมนกนี้ประกอบไปด้วย 12 บท หรือ 24 บาท  (วรรคหน้า+หลัง รวมกันได้ 1 บาท) แต่ละบทมีการเปรียบเปรยกับนก ยกเว้นกาพย์แรกด้านบท เป็นกาพย์ 2 บทแรกด้านบน ทำหน้าที่เปิดหัวเรื่องให้เราเห็นภาพการล่องเรือบนแม่น้ำยามเย็น พระอาทิตย์ใกล้ตก ชวนให้นึกถึงหน้าสาวอันเป็นที่รัก แถมเมื่อมองบนฟ้ายังเจอนกที่กำลังบินกลับรัง บางก็บินคู่ บางก็บินเดี่ยว คล้ายผู้ประพันธ์ที่กำลังรู้สึกโดดเดี่ยวไม่ต่างกัน เมื่อเห็นภาพชัดแล้วว่ากำลังอยู่ไหน รู้สึกอย่างไร บาทถัดๆ มาผู้ประพันธ์จึงได้เริ่มหยิบชื่อนกที่เห็นตามทางมาแต่งสะท้อนความคิดถึงให้ชัดมากกว่าเดิม 

ชื่อนกที่เจ้าฟ้ากุ้งหยิบมาใส่ในบทกลอนมีด้วยกันทั้งหมด 10 ชื่อ คือ ยูงไทย สร้อยทอง สาลิกา นางนวล แก้ว ไก่ฟ้า แขกเต้า ดุเหว่า โนรี และสัตวา อย่างไรก็ตามนกทั้งหมดมาเป็นแค่ชื่อเรียก ไม่ได้ระบุชนิดหรือพันธุ์ที่ชัดเจน ข้อมูลนี้จึงเป็นเพียงการคาดเดาจากผู้เชี่ยวชาญว่านกที่เจ้าฟ้ากุ้งเห็น น่าจะเป็นชนิดหรือสายพันธุ์ตามนี้ และหยิบชนิดอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันมาเพื่อให้เห็นภาพนกของประเทศไทยว่าตอนนี้อยู่ในสถานการณ์อย่างไร โดยใน Data Visualization ชิ้นนี้ มีนก 2 ประเภทที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นนกประเภทไหน คือ สร้อยทองและโนรี

โดยอ้างอิงข้อมูลจากสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย มีการรวบรวมสถานะปัจจุบันของนก ประเภทการรายงานของนกแต่ละชนิด และสถานภาพตามฤดูกาลของนกแต่ละชนิด โดยสถานะของนกอ้างอิงจาก ONEP ซึ่งใช้เหมือนกันทั่วโลก ใน Data Visualization ชิ้นนี้จะมีการแยกสถานะของนกไว้ด้วย โดนแต่ละตัวอักษรจะบ่งบอกสถานะของนกตามนี้  Extinct – สูญพันธุ์, EW – สูญพันธ์ตามธรรมชาติ, CR ใกล้สูญพันธ์อย่างยิ่ง, EN ใกล้สูญพันธ์,  VU มีแนวโน้มใกล้สูญพันธ์,  NT ใกล้ถูกคุกคาม,  DD ไม่เจอข้อมูล และ LC – ไม่มีแนวโน้มถูกคุกคาม

นกในสายพันธุ์เหล่านี้ (+นกในกาพย์เห่เรือ) อยู่ในสถานะน่าเป็นห่วง 

นกในสายพันธุ์เหล่านี้อยู่ในสถานะน่าเป็นห่วง 1

เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ เราขอชวนทุกคนก้าวลงเรือ พาไปอ่านบทกาพย์เห่เรือ ชมนก ของเจ้าฟ้ากุ้ง พร้อมแกะรอยนกบางสายพันธุ์และเรื่องราวที่น่าสนใจ รวมถึงปัญหาที่อาจคุกคามให้พวกมันหายไปจากธรรมชาติของเรา 

เริ่มต้นด้วยวรรคแรก ‘เห็นฝูงยูงรำฟ้อน คิดบังอรร่อนรำกราย’ เมื่อได้เห็นนกยูงร่ายรำรำแพนหางก็สวยงามเหมือนท่วงท่าร่ายรำของสาวที่คิดถึง สำหรับ ‘นกยูงไทย’ นกตัวแรกที่เจ้าฟ้ากุ้งกล่าวถึงอยู่ในสถานะ Endangered หรือ ใกล้สูญพันธุ์ ภัยคุกคามของนกยูงคือการสูญเสียที่อยู่อาศัยจากกิจกรรมของมนุษย์ และอีกภัยคือการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ ระหว่างนกยูงไทยและอินเดียที่อาจทำให้นกยูงไทยสูญพันธุ์ได้  

ถัดมาคือสร้อยทอง จากวรรคที่ว่า ‘สร้อยทองย่องเยื้องชาย เหมือนสายสวาทนาดนวยจร’ แต่เราไม่สามารถแกะรอยตามได้ว่าคือตัวไหนแน่ชัด คาดว่าอาจจะเป็นนกขุนทองที่อยู่ในสถานะ Near Threatened หรือ ใกล้ถูกคุกคาม และเป็นนกประจำถิ่นของไทย 

ส่วนวรรคถัดไปว่า ‘สาลิกามาตามคู่ ชมกันอยู่สมสู่สมร’ เจ้าสาลิกายังไม่อยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วง สำหรับประเทศไทยเรามีนกสาลิกาเขียวหางสั้น เป็นนกประจำถิ่น หายาก มีรายงานพบเฉพาะทางภาคตะวันออกจังหวัดจันทบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรีเท่านั้น และนกสาลิกาเขียวเป็นนกประจำถิ่นเหมือนกันที่พบเจอได้ตามภาค เหนือ ตะวันตก และอีสาน

ถัดมา ‘นกนางนวลนวลน่ารัก ไม่นวลพักตร์เหมือนทรามสงวน’ แม้นางนวลจะดูน่ารักก็ไม่น่าดูเท่ากับหน้าสาวเจ้า เราคาดว่านกนางนวลที่เจ้าฟ้ากุ้งเห็นน่าจะเป็น  ‘นางนวลแกลบแม่น้ำ’ เป็นนกนางนวลที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลกเนื่องจากสูญเสียแหล่งทำรังวางไข่ตามหาดทรายริมแม่น้ำขนาดใหญ่ ปัจจุบันเราไม่สามารถพบนกชนิดนี้ได้เท่าเดิม พื้นที่อาศัยเดิมของเค้าอยู่ตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 

นอกจากนางนวลแม่น้ำ ยังมีนกนางนวลไทยสายพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ในสถานะ Critically Endangered หรือเป็นอันตรายระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง เหมือนกัน คือนกนางนวลแกลบท้องดำ นกนางนวลแกลบจีน และนกนางนวลแกลบหงอนใหญ่ สาเหตุหลักที่นกนางนวลหายไปจน่าจะเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำจากการการกระทำของมนุษย์ เช่น การรุกรานพื้นที่ การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ และไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่เกิดผลกระทบนี้ ประเทศอื่นๆ เช่น จีน ลาว เองก็มีรายงานว่าไม่พบเจอเหมือนกัน 

นกในสายพันธุ์เหล่านี้อยู่ในสถานะน่าเป็นห่วง 2

วรรคถัดมาคือ ‘นกแก้วแจ้วแจ่มเสียง จับไม้เรียงเคียงคู่สอง’ คาดว่านกแก้วตัวที่เจ้าฟ้ากุ้งน่าจะหยิบมาแต่ง คือ ‘นกแก้วโม่ง’ เพราะว่าเป็นนกที่อาศัยอยู่ในภาคกลางบริเวณแถวนนทบุรี ริมน้ำ สวนผลไม้ หรือต้นยาง น้องตัวนี้อยู่ในสถานะ Endangered หรือใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากโดนรุกรากพื้นที่ถิ่นอาศัย ปัจจุบันจังหวัดนนทบุรีกำลังอนุรักษ์นกแก้วโม่งในพื้นที่จังหวัด ด้วยการสร้างรังเทียมติดกับต้นยางนาในพื้นที่ 

ถัดมาช่วงกลางๆ ของกาพย์ ‘ไก่ฟ้ามาตัวเดียว เดินท่องเที่ยวเลี้ยวเหลี่ยมเขา’ ไก่ฟ้าที่คนไทยนึกถึงบ่อยๆ คือไก่ฟ้าพญาลอ น้องคนนี้พบเจอได้ทางเหนือ อยู่ในสถานะ Near Threatened หรือ ใกล้ถูกคุกคาม แต่ยังไม่รุนแรงเท่าไก่ฟ้าตัวอื่นๆ คือไก่ฟ้าหน้าเขียว และ ไก่ฟ้าหางลายขวาง ทั้ง 2 ตัวนี้อยู่สถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และใกล้สูญพันธุ์ตามลำดับ โดยตัวแรกพบเจอได้ตามภาคใต้ และตัวหลังพบเจอได้ตามภาคเหนือของไทย แต่ก็พบเจอได้น้อยลงแล้ว 

วรรคถัดมาคือ ‘นกเต้าเคล้าคู่เคียง เรียงจับไม้ไซร้ปีกหาง’ นกเต้าหรือนกแขกเต้า เเป็นนกแก้วพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบเจอได้ตามประเทศอินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วไปทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ อยู่ในสถานะ Near Threatened หรือ ใกล้ถูกคุกคาม 

ส่วนตัวที่เหลืออยู่ท้ายๆ บท ‘ดุเหว่าเจ่าจับร้อง สนั่นก้องซ้องเสียงหวาน’ และ ‘โนรีสีปานชาด เหมือนช่างฉลาดวามแต้มลาย’ คือนกดุเหว่า (อีกชื่อคือนกกาเหว่า) และนกโนรี สำหรับนกดุเหว่าถือว่าเป็นนกที่ยังไม่ต้องกังวลอะไร พบได้ทั่วทุกที่ในประเทศไทย มักจะอาศัยอยู่ตามพื้นดินหรือพื้นที่สวนมากกว่าบนภูเขา ส่วนนกโนรี ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นนกประเภทไหนที่เจ้าฟ้ากุ้งน่าจะเจอ เพราะนกโนรีในปัจจุบันเป็นนกนำเข้ามาในไทย พบประเทศอินโดนีเซีย หมู่เกาะโมลุกกะของปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอน คาดว่านำเข้ามาตั้งแต่ช่วงอยุธยา

จากการหยิบนกบางตัวขึ้นมาดูสถานะของพวกมัน พบว่าส่วนใหญ่แล้วก็อยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วง แม้ว่าส่วนใหญ่ยังพบเจอได้ตามธรรมชาติในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยข้อมูลของนกนั้นไม่ได้ถูกอัพเดตบ่อยมากนัก  ส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลา 10 ปีในการอัพเดตต่อครั้ง นั่นอาจหมายถึงว่าจริงๆ แล้วนกพวกนั้นอาจจะหายาก และอยู่ในสถานะน่าเป็นห่วงกว่าเดิมแล้วก็ได้ 

10 ประเทศที่นกเสี่ยงสูญพันธ์ุมากสุด และไทยอยู่อันดับที่ 13 ของโลก

10 ประเทศที่นกเสี่ยงสูญพันธ์มากที่สุด ไทยอยู่อันดับที่ 13

หลังจากได้ล่องเรือย้อนเวลาไปกับเจ้าฟ้ากุ้ง กลับมามองยุคปัจจุบันของเราว่าธรรมชาติ พื้นที่ริมน้ำ และท้องฟ้า ดูจะเงียบเหงาขึ้น เพราะพบเจอนกได้ยากขึ้น หากลองมองในสเกลระดับโลก ว่าทั้งโลกประเทศไหนที่กำลังโดนคุกคามมากที่สุด เราจะพบว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่หลายประเทศเผชิญหน้า 

นกหลายประเทศกำลังโดนคุกคามอยู่ไม่น้อย ข้อมูลจาก OurworldinData ร่วมกับ World Bank อัพเดตล่าสุดเมื่อปี 2018 บอกว่า ประเทศที่มีจำนวนนกที่เสี่ยงสูญพันธ์และกำลังโดนคุกคามมากที่สุดคือบราซิล 175 สายพันธุ์ ถัดมาที่สองอินโดนีเซียทั้งหมด 160 สายพันธุ์  ลำดับถัดมาคือจีน ฟิลิปปินส์ และอินเดีย นกโดนคุกคามประมาณ 90 สายพันธุ์  

ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 13 จากทั้งโลก พอๆ กับมาเลเซียที่อันดับ 14 โดยมีจำนวนนกที่โดนคุกคาม อยู่ที่ 62 และ 63 สายพันธุ์ตามลำดับ ก็ถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะอยู่เหมือนกัน ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ฮ่องกง สิงค์โปร์ ลาว อยู่ที่พอๆ กันคือ 21 22 และ 29 สายพันธุ์ 

ความน่าสนใจอีกอย่าง คือถ้าแบ่งประเทศตามของรายได้ของประเทศ จะพบว่าแต่ละกลุ่มประเทศมีจำนวนนกที่โดนคุกคามไม่เท่ากัน  อันดับหนึ่งที่นกโดนคุกคามเยอะสุด คือ ประเทศ Upper-middle-income countries โดนคุกคามอยู่ที่ 1,502 ตัว ประเทศในกลุ่มนี้ เช่น ไทย บราซิล อินโดนีเซีย ตุรกี เม็กซิโก 

อันดับสอง ประเทศ Lower-middle-income countries คือ 1,436 ตัว เช่น พม่า กัมพูชา เนปาล ลาว ศรีลังกา เวียดนาม อียิปต์

อันดับสาม คือ กลุ่มประเทศ High-income countries อยู่ที่ 1,105 ตัว ส่วนใหญ่เป็นประเทศฝั่งยุโรป  เยอรมัน เดนมาร์ก นอร์เวย์

และอันดับสี่ที่นกโดนคุกคามน้อยสุดคือกลุ่มประเทศ Low-income countries อยู่ที่ 578 ตัว ประเทศในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มาจากทวีปแอฟริกา เช่น ไนจีเรีย อูกานดา เอธิโอเปีย อัฟกานิสถาน และอีกหนึ่งประเทศจากเอเชีย คือ เกาหลีเหนือ

มนุษย์คุกคามนกทั้งทางตรงและทางอ้อม

มนุษย์คุกคามนนกทั้งทางตรงและทางอ้อม

ปัญหาของนกที่โดนคุกคามไม่ใช่ปัญหาแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือแค่ทวีปหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าไปพร้อมๆ กัน จากข้อมูลของ Bird Life บอกว่าปัจจุบันมีนก 373 สายพันธุ์กำลังถูกคุกคามอยู่  สาเหตุของการโดนคุกคาม สามารถแบ่งออกมาได้ 17 สาเหตุที่ทำให้นกทั่วโลกกำลังโดนคุกคาม 

  • โดย 5 สาเหตุแรกพบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ สาเหตุแรก คือ การเกษตรกรรมและการประมง ส่งผลกระทบต่อนก 65 สายพันธุ์ 
  • สาเหตุที่ 2  คือ การล่าสัตว์ป่า ส่งผลกระทบต่อนก 62  สายพันธุ์  
  • สาเหตุที่ 3  คือ อุตสาหกรรมการทำไม้และสวนไม้ ส่งผลกระทบต่อนก 47 สายพันธุ์ 
  • สาเหตุที่ 4 คือ การพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ค้าขายของมนุษย์ ส่งผลกระทบต่อนก 27 สายพันธุ์ 
  • และท้ายสุด สาเหตุที่ 5  คือการบุกรุกจากมนุษย์ ส่งผลกระทบต่อนก 25 สายพันธุ์

และอีกหลายๆ เหตุผลตามมา ไม่ว่าจะมลพิษทางอากาศ การผลิตพลังงาน การสร้างเขื่อน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การเกิดโรคติดต่อในกลุ่มสัตว์ปีก

สำหรับเรื่องการเกษตรและประมง ส่งผลกระทบต่อหน้าดินและผืนน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต้องการดำรงชีวิตของนก ทำให้เมื่อดินถูกทำลาย น้ำไม่สะอาด อาหารก็หายากเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเหมือนกัน ตลอดจนการใฃ้สารเคมีในการเกษตรส่งผลต่อความหลากหลายของนกในพื้นที่อย่างมาก อีกเรื่องคือพวกอุตสาหหกรรมการผลิตไฟฟ้าอย่างเขื่อนและกังหันไฟฟ้า ประเด็นนี้เห็นได้ในบริเวณเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่งตามแนวแม่น้ำโขงและแม่น้ำอิรวดี เพราะเป็นแหล่งวางไข่ของนกริมน้ำ แต่เขื่อนทำให้การไหลของน้ำในแม่น้ำเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อพื้นที่ริมน้ำจึงเปลี่ยนตามด้วย ส่งผลรบกวนถึงการทำรังและวางไข่ของนกริมแม่น้ำ

ส่วนกังหันลมผลิตไฟฟ้า พบว่า ‘สายไฟ’ เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของนก ตัวอย่างที่ยกมาคือ บริเวณเส้นทางบินอพยพของแอฟริกา-ยูเรเชียน เพราะนกมันจะโผบิน เกาะและทำรังบนเสาไฟฟ้า เนื่องจากเสาเหล่านั้นตั้งสูงคล้ายกับต้นไม้ที่เคยมีอยู่ในเส้นทางการเดินทางของพวกมัน ทำให้นกที่บินผ่านเส้นทางนั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกไฟฟ้าช็อต ตลอดจนชนเข้ากับกังหันลมเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและการบาดเจ็บของนกเพิ่มเติมได้อีกด้วย

*ข้อมูลนี้ รวบรวมเฉพาะนกที่อยู่ในรายชื่อ IBas รายชื่อนกสำคัญ และ KBA พื้นที่หากินสำคัญของนก จาก Birdlife Data เท่านั้น 

ธรรมชาติและระบบนิเวศสั่นคลอนเพราะนกหายไป

ธรรมชาติและระบบนิเวศสั่นคลอนเพราะนกหายไป

ถึงแม้ว่านกเป็นสัตว์ปีก พร้อมเราจะเห็นภาพนกโบยบินอยู่บนฟ้า แต่นกบางตัวก็อยู่บนพื้นดินด้วยเหมือนกัน สำหรับนกที่อยู่ในกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งนี้ ก็มีบางตัวแล้วเป็นนกที่หากินบางพื้น เช่น ไก่ฟ้า นกกะทา แถมบางตัวก็เป็นนกที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล้วแหล่งอาศัยของนกนั้นมีมากกว่าแค่ท้องฟ้าหรือกิ่งไม้ แถมนกยังมีหน้าที่สำคัญในแหล่งอาศัยของตัวเองด้วยเหมือนกัน 

หน้าที่ของนกในระบบนิเวศมีด้วยกันหลายอย่าง แล้วแต่ชนิดของมัน บางชนิดสร้างปุ๋ยและกระจายพันธุ์ไม้ให้กับผืนป่าด้วยอุจจาระที่มีเมล็ดพันธุ์และสารอาหารต่างๆ บางชนิดทำหน้าที่จัดการซากศพของสัตว์ที่ตายแล้ว รวมไปถึงบางชนิดที่ทำรังตามโพรงไม้ และกลายเป็นแหล่งอาหารของสิ่งมีฃีวิตอื่นตามมา นอกจากนี้แล้ว นกบางประเภทยังมีพฤติกรรมอพยพย้ายถิ่นในช่วงหน้าหนาว คือบินจากเหนือลงใต้เพื่อมาสู่พื้นทีที่อุ่นกว่า แต่ในปัจจุบันโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ พื้นที่ที่เคยอุ่นกลายเป็นพื้นที่ที่ร้อนขึ้นกว่าเดิม พื้นที่ที่เคยหนาวกลับกลายเป็นอุ่น นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าในบางปีนกก็ไม่มา หรือมาแต่ช้าและเร็วขึ้นตามที่เคยเป็น ตลอดจนจำนวนของนกที่น้อยลง เนื่องจากผลของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้พวกมันต้องเปลี่ยนพฤติกรรมตามไปด้วย 

ผลกระทบของการที่นกไม่อพยพ เช่น ไม่มีอาหารในพื้นที่เพียงพอ ไม่ได้หาคู่และผสมพันธุ์อาจนำไปสู่การสูญพันธ์ได้ และอีกผลกระทบคือระบบนิเวศ เพราะนกบินไปมาพร้อมด้วยหน้าที่ในการแพร่เมล็ดพันธุ์ต่างๆ ไปด้วย หากนกเลิกอพยพ ระบบนิเวศของบางพื้นที่ หรือต้นไม้บางสายพันธุ์ก็อาจจะหายไปด้วยเหมือนกัน

หลายประเทศรวมไทย เริ่มมีโปรเจ็กต์อนุรักษ์

หลายประเทศมีโปรเจกต์อนุรักษ์นกมากขึ้น

การอนุกรักษ์นก ฟื้นฟูให้นกกลับมาอีกครั้งสามารถทำได้หลายทาง ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่หรือสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆ ข้อมูลจาก Birdlife Datazone พบว่า การอนุรักษ์ด้วยการปกป้องผืนดินและน้ำ สามารถเกิดประโยชน์ต่อนกได้มากที่สุดคือ 58 สายพันธุ์ รองลงมาคือ การสร้างความเข้าใจและเพิ่มความตระหนักรู้ 38 สายพันธุ์ การจัดการธรรมชาติเช่นดินและน้ำ 37 สายพันธุ์ ถัดมาคือพวกนโยบาย กฏหมาย และการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจอย่างละ 10-20 สายพันธุ์ 

นอกจากนี้ ปัจจุบันคนตื่นตัวเรื่องนกกันมากขึ้น ทำให้เรามีโปรเจ็กต์อนุรักษ์นกหลายส่วนทั่วโลก ของไทยเองก็มีอย่าง โครงการการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ ของจังหวัดบุรีรัมย์ ทำให้นกกระเรียนที่เคยสูญพันธ์ไปกว่า 50 ปีในไทยกลับมาอีกครั้ง พร้อมด้วยระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำ และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวที่ปลูกในพื้นที่อนุรักษ์นกกระเรียนได้อีกด้วย หรือจะโปรเจ็กต์สนุกๆ ของบราซิล หนึ่งในประเทศที่นกกำลังโดนคุกคามมากที่สุด กับโครงการ ‘Peruíbe – Brazil’s First Bird City’ ที่ชวนคนในชุมชนมาออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของนกในเมืองมากขึ้น พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนกเพิ่มขึ้น 

หรือหันมามองประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างอินโดนีเซีย หนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ก็มีองค์กรอย่าง FLIGHT protecting Indonesia’s Bird เป็นองค์กรที่สร้างควงามรู้ความเข้าใจให้กับกลุ่มเด็กเยาวชน มีโปรเจ็กต์ติดตามดูแลทั้งนกและต้นไม้ในพื้นที่ป่า

ทั้งนี้การอนุรักษ์นกเพียงสายพันธุ์เดียว หรือจะทั้งผืนป่าจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งหลายๆ ฝ่าย เพื่อสร้างพื้นที่แวดล้อมที่เหมาะสมกับนกให้กลับมา และเป็นการชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่นั้นต่อได้ 


ขอบคุณ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ สำหรับการชี้แนะและให้ข้อมูลเพิ่มเติม 

อ้างอิง

https://www.birdlife.org/partners/indonesia-burung-indonesia/
https://datahelpdesk.worldbank.org/knowledgebase/articles/906519-world-bank-country-and-lending-groups

https://ourworldindata.org/grapher/threatened-bird-species?tab=table

https://datazone.birdlife.org/country/factsheet/thailand