เขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ≠ พลังงานสะอาด เปิดแผน PDP2024 ที่ซื้อไฟเขื่อนลาวเพิ่ม กระทบสิ่งแวดล้อมและและบิลค่าไฟ

สำหรับใครหลายคนเขื่อน คือ สถานที่เที่ยว แต่สำหรับใครอีกหลายคนเขื่อน คือ โครงสร้างขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาทำลายพื้นที่บ้าน พื้นที่ธรรมชาติ และระบบนิเวศเดิมของมัน ทำสภาพท้องถิ่นเดิมเปลี่ยนแปลงหรือหายจากไป 

เขื่อนจึงเป็นประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมาโดยตลอดว่าจริงๆ แล้ว เขื่อนหรือโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำมีข้อดีข้อเสียมากน้อยแค่ไหน และเขื่อนสามารถนับว่าเป็นพลังงานหมุนเวียนได้จริงหรือไม่ 

ร่างแผน PDP 2024 ที่ประกาศออกมาใส่เขื่อนหรือพลังน้ำเข้าไปด้วยกันถึง 17% แบ่งเป็นพลังงานน้ำในประเทศ 2% และพลังงานน้ำจากต่างประเทศ อีก 15%  จากร่างแผนนี้มีหลายประเด็นที่น่าจับตามอง ตั้งแต่การนับรวมเขื่อนทั้งจากในและนอกประเทศเข้าไปอยู่ในสัดส่วนของพลังงานสะอาด ผลกระทบของเขื่อนที่มีต่อทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งคำถามถึงความจำเป็นของการสร้างเขื่อนเพิ่ม หรือซื้อพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเพิ่มทั้งที่เกินความจำเป็น  และมีเลือกทางอื่นๆ ที่ดีกว่า อย่างการต่อสัญญากับเขื่อนเดิมที่ราคาถูกกว่า และท้ายสุดแล้วประชาชนก็ต้องรับผลกรรมกันไป

อย่างที่เค้าว่าสายน้ำไม่หวนกลับ ไม่ใช่แค่เงินทุนที่จมลงไปกับสายน้ำอย่างไม่จำเป็นก็ไม่หวนกลับคืนเช่นกัน Data Hatch ชวนดูปัญหาที่แอบซ่อนในเลข 15% ของจำนวนพลังน้ำจากต่างประเทศ ผลกระทบต่อธรรมชาติและผู้คน ตลอดจนปัญหาที่รอสร้างภาระและปัญหาเพิ่มให้กับเรา

ความมั่นคงที่ผูกกับเขื่อนในต่างประเทศที่เขียนในแผน PDP

สำหรับแผน PDP ฉบับที่ผ่านๆ มามีการใส่พลังงานน้ำอยู่ในแผนมาโดยตลอด และจัดไว้ในสัดส่วนของพลังงานสะอาด ถ้าลองดูจากแผน PDP ปีก่อนๆ จะเห็นได้ว่าเรามีการซื้อพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศมาโดยตลอด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคือการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อน 

สำหรับวงกลมด้านซ้ายสุด คือ สัดส่วนของปีปัจจุบันที่เราใช้กันอยู่ จะเห็นว่าเรามีพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศด้วยกันถึง 15% ส่วนปีอื่นๆ คือปี 2015 และ 2018 มีพลังงานจากต่างประเทศอยู่ที่ 15% และ 9% ตามลำดับ 

ส่วนแผน PDP2024 ฉบับล่าสุดที่เพิ่งประกาศออกมา กำหนดว่ามีพลังงานสะอาดอยู่ที่ 51% คือ เกินครึ่งของทั้งหมด โดยมีพลังงานน้ำจากต่างประเทศอยู่ถึง 15% และพลังงานน้ำในประเทศอยู่ที่ 2% โดยทางผู้จัดทำแผน PDP จับพลังงานน้ำใส่เข้าไปในพลังงานสะอาดด้วยเช่นกัน แม้ว่าน้ำจะช่วยชะล้างสิ่งสกปรกและทำให้สิ่งของสะอาดได้จริงๆ แต่ตัวมันเองในฐานะเขื่อนที่ผลิตกำลังไฟฟ้า พลังงานน้ำยังไม่นับว่าเป็นพลังงานสะอาดขนาดนั้น 

ซื้อเพิ่มเรื่อยๆ ทั้งที่ประชาชนไม่ต้องการ

ตลอดระยะเวลาเกือบสิบปีของแผน PDP บอกกับเราว่าการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่ผ่านมา เราเน้นไปที่การหรือการซื้อขายไฟจากต่างประเทศเข้ามาเป็นหลัก ส่วนมากมักซื้อพลังงานน้ำจากเขื่อนจากประเทศลาว โดยมีสัญญาการรับซื้อไฟฟ้า หรือ PPA (Power Purchasing Agreement) ซึ่งมีบางส่วนที่เป็นไปตามแผน และบางส่วนที่ไม่เป็นไปตามแผนของ PDP ส่งผลให้การรับซื้อขายไฟเหล่านี้มีทั้งแบบรับซื้อปกติและแพงกว่าปกติ

สัญญาการรับซื้อไฟฟ้าทำให้เกิดการสร้างเขื่อนขึ้นมาอีกหลายแห่งในบริเวณไทยและลาว สำหรับในร่างแผน PDP 2024 ก็มีแพลนว่าจะเพิ่มโรงไฟฟ้าแบบเขื่อนสูบน้ำกลับเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการสร้างเขื่อนเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อทั้งผู้บริโภค ระบบนิเวศ และชุมชนโดยรอบ อีกทั้งจากการคาดการณ์เราพบว่าประเทศไทยไม่ได้มีความต้องการใช้ไฟมากขนาดจำเป็นต้องซื้อไฟเข้ามาจากต่างประเทศเลย เรียกได้ว่าแผนการซื้อไฟจากต่างประเทศนี้ล้วนเป็นแค่การเอื้อนายทุนเท่านั้น ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรให้กับประชาชนเลย

ยิ่งซื้อไฟจากลาวเยอะ คนไทยจ่ายค่าไฟมากกว่าเดิม

การซื้อไฟจากเขื่อนต่างประเทศส่งผลกระทบกับเราในเรื่องค่าไฟ เพราะราคาไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการใหม่ๆ ในลาวมีราคาแพงกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำรุ่นเก่าค่อนข้างมาก และไทยก็ยังอยากจะจ่ายเงินเพื่อซื้อไฟฟ้าพวกนี้อยู่ โดยจากข้อมูลของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บอกว่า ในช่วงปี 2018 คือปีแรกของการใช้แผน PDP 2018 ราคาของเขื่อนลาวอยู่ที่ 1.70 บาทต่อหน่วย ก่อนจะกระโดดมาเป็นราคา 2.08 บาท และ 2.82 บาทในช่วงหลังปี 2018 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปกว่านั้นอีกเพราะโครงการอื่นๆ ที่กำลังสร้าง อาจมีราคาสูงถึง 2.82-2.92 บาทต่อหน่วยเลยทีเดียว ซึ่งราคาตรงนี้ทั้งหมดก็จะถูกหารเท่าอยู่ในราคาค่า FT ที่ติดห้อยอยู่ในบิลค่าไฟของเรานั่นเอง 

จากที่เห็น PDP ตั้งแต่ 2015 ถึงปัจจุบัน พบว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราจ่ายเงินเพื่อซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวมาโดยตลอด ส่วนมากมักพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อน ส่วนสาเหตุที่พลังงานเหล่านี้ถูกนับว่าเป็นพลังงานสะอาด เพราะว่าทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ของเราไม่ได้ถูกทำลายลง เพราะสถานที่ตั้งของเขื่อนนั้นไม่ได้อยู่ในไทย กลายเป็นเรากำลังผลักภาระไปให้ประเทศลาวแทน แต่อย่างไรก็ตาม แม่น้ำที่ใช้ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำก็คือแม่น้ำโขงสายเดียวกันที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวไทยในภาคอีสานเหมือนกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็หนีไม่พ้นกันอยู่ดี 

เขื่อนกระทบทั้งธรรมชาติและเศรษฐกิจ

นอกจากประเด็นเรื่องการซื้อไฟจากลาวโดยไม่จำเป็น การสร้างเขื่อนเพิ่มที่ไม่ต้องการจะกระทบเรื่องค่าไฟแล้ว เขื่อนยังส่งผลกระทบต่อหลายๆ มิติของเราอีกด้วย 

น้ำไม่ไหล ปลาไม่ว่าย ธรรมชาติเริ่มหาย 

เขื่อนสร้างผลกระทบต่อธรรมชาติและระบบนิเวศ คือปลาไม่สามารถอาศัยอยู่ในน้ำตามเดิมได้ เพราะโดยส่วนมากปลาแม่น้ำโขงอาศัยอยู่ตามโขดหินและบริเวณที่มีน้ำไหลเชี่ยว ไปจนถึงบริเวณน้ำลึกของแม่น้ำโขง การสร้างเขื่อนจะทำให้กระแสน้ำที่เคยไหลตลอดเวลากลายเป็นแค่แอ่งน้ำนิ่ง ไม่เหมาะกับการอาศัยของสิ่งมีชีวิตแทน ไม่เพียงแค่นั้น การสร้างเขื่อนที่ส่งผลกระทบต่อกระแสน้ำ ยังมีโอกาสกระทบกับพวกแอ่งและแก่งต่างๆ ตามธรรมชาติของลำน้ำโขง ซึ่งเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ อีกด้วย เรียกได้ว่าการสร้างเขื่อนเพียงครั้งเดียวกระทบครั้งใหญ่ไปหมด

ชุมชนและการใช้ชีวิตไม่เหมือนเดิม

การสร้างเขื่อนทีหนึ่งจำเป็นต้องใช้พื้นที่ใหญ่มหาศาล ทำให้เกิดการไล่รื้อพื้นที่ชุมชนและย้ายให้ไปอยู่ที่อื่นเพื่อเตรียมพื้นที่ในการสร้างเขื่อนจึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายๆ ชุมชน นอกจากเรื่องของพื้นที่ถิ่นที่อยู่ที่ต้องย้ายออกทำให้การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป การทำมาหากินที่เกี่ยวผันกับแม่น้ำโขง เช่น ทำสวน จับปลาต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลง  อีกทั้งยังมีเรื่องของการให้เงินชดเชยที่ไม่มากเพียงพออีกด้วย ตัวอย่างหนึ่งคือเขื่อนปากแบ็ง ประเทศลาว ที่ต้องมีการย้าย 26 หมู่บ้านออกจากพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบ ครอบคลุมประชาชนกว่า 10,000 คน 

เศรษฐกิจไม่พัฒนาตามที่ควรจะเป็น 

การสร้างเขื่อนทำให้สูญเสียพื้นที่จำนวนมาก ทั้งในเรื่องของชุมชน ระบบนิเวศ ยังรวมไปถึงพื้นที่ทำมาหากิน เช่น พื้นเพาะปลูก หรือพื้นที่ทำประมง และเมื่อเขื่อนกักเก็บน้ำเปลี่ยนพื้นที่แม่น้ำให้กลายเป็นแค่แอ่งน้ำนิ่ง ปุ๋ยและแร่ธาตุในธรรมชาติก็จะหายไป ส่งผลให้ผลผลิตจากการเพาะปลูกก็น้อยลงตาม และกระทบกับเศรษฐหกิจตั้งแต่ระดับชุมชน และระดับใหญ่ได้

โรงไฟฟ้าพลังงานสูบกลับ และโซลาร์เซลล์คือทางเลือกใหม่

จากร่างแผน PDP 2024 แสดงให้เห็นถึงจำนวนเขื่อนที่ประเทศไทยมีอยู่ และกำลังจะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง ตั้งอยู่ในหลายภาคของประเทศไทย ประเด็นที่น่าสนใจคือ ‘โรงไฟฟ้าสูบกลับ’ โดยเรามีด้วยกัน 3 โรง คือ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนกระทุม ทั้งหมดรวมกันได้ประมาณ 2,400 MW 

โรงไฟฟ้าพลังงานสูบกลับ คือระบบกักเก็บพลังงานรูปแบบหนึ่ง โดยมีอ่างเก็บน้ำ 2 อัน คือบนและล่าง อ่างล่างไว้สำหรับน้ำที่ปล่อยออกมาจากด้านบน เพื่อรอเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยสูบกลับขึ้นด้านบน เพื่อใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้ไฟมาก พร้อมกันนั้นโรงไฟฟ้ารูปแบบนี้ยังสามารถติดโซลาร์เซลล์เพิ่มเข้าไปได้ เพื่อขยายให้พลังงานหมุนเวียนสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ 

ดังนั้นแล้ว โรงไฟฟ้าสูบกลับคือว่าเป็นเรื่องที่ดี และควรจะทำให้ทุกเขื่อนที่เรามีกลายเป็นโรงไฟฟ้าสูบกลับให้หมด โดยทำงานผสมผสานไปกับระบบโซลาร์เซลล์ จะสามารถทำให้พลังงานหมุนเวียนของเราเป็นไปได้จริงมากขึ้นกว่าเดิม หากเรามีเขื่อนที่มาพร้อมโรงไฟฟ้าพลังงานสูบกลับอย่างน้อย  6 เขื่อน โดยแต่ละเขื่อนผลิตไฟฟ้าได้ 700 MW ดังนั้นเราจะมีพลังงานไฟฟ้ามากถึง 4,200 MW โดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาด 2,200 MW และสามารถเพิ่มสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างน้อย 10,000 MW หรือคือเป็น 5 เท่าของโรงไฟฟ้าก๊าซเลย 

นอกจากนี้แล้ว การซื้อขายไฟฟ้าจากต่างประเทศทั้งที่เราไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้ไฟขนาดนั้น ส่วนจุดสังเกตข้อที่สองคือ ร่างแผน PDP 2024 ฉบับนี้อาจจะไม่มีการต่ออายุสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเก่าเลย ทั้งที่การต่ออายุสัญญานั้นใช้เงินลงทุนน้อยกว่า และอาจจะคุ้มค่ากว่าเดิม เพราะการสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ไม่ได้คุ้มเท่ากับการรักษาของเดิม นอกจากนี้แล้วยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ ทั้งประเด็นที่ว่าเราไม่สามารถพึ่งพาพลังงานน้ำได้อีกต่อไปจากสถานการณ์ Global boiling หรือโลกเดือด ด้วยความที่น้ำร้อนขึ้นมากกว่าเดิม กำลังการผลิตก็จะเปลี่ยนไป จนถึงเรื่องผลกระทบต่อประเทศข้างๆ อย่างกัมพูชา ที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการซื้อไฟของไทยและลาวเลย แต่ก็อาจได้รับผลกระทบทางธรรมชาติไปด้วย

ที่มาและอ้างอิง
https://www.governing.com/…/gov-hydropower-renewable…
https://www.seub.or.th/…/%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%9B-7…/
https://prachatai.com/journal/2023/03/103382
https://www.prysmian.com/…/hydropower-how-does-it-work…
https://brandinside.asia/gulf-with-cdto-invest-in-loas…/