ชม ‘ปลา’ ในกาพย์เห่เรือเจ้าฟ้ากุ้ง ที่โดนคุกคามในสายน้ำที่ไม่เหมือนเดิม
‘กาพย์เห่เรือ’ สะท้อนความผูกพันระหว่างคนไทยกับการเดินทางด้วยสายน้ำ กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งคือกาพย์เห่เรือที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่งขึ้นในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย คาดว่าแต่งเพื่อใช้สำหรับไปสักการะพระพุทธบาทที่สระบุรี แต่บ้างก็ว่าไม่เคยได้ใช้งานเลยจนกระทั่งเข้ามาสู่ช่วงรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเคยได้ใช้ หรือไม่เคยใช้ได้ บทกาพย์ห่อโคลงนี้ประกอบไปด้วยคุณค่าหลายอย่างด้วยกัน เพราะในกาพย์เห่เรือประกอบไปด้วยหลายบท ชมทั้งนก ไม้ และปลา อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามถึงสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนไป
ในครั้งที่แล้ว เราได้ล่องเรือแหงนหน้ามองฟ้าเพื่อชมนกกันไปแล้ว ครั้งนี้ยังอยู่บนเรือเหมือนเดิม แต่ชวนให้ก้มหน้าลงมองแถวน้ำและกราบเรือ เพราะในบทกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งมีการพูดถึงปลามากกว่านกอีก แถมบางตัวยังสูญพันธ์ุไปแล้วด้วย เพราะความสำคัญของปลานั้นมากกว่าแค่เป็นอาหารสำหรับสัตว์และมนุษย์ แต่ยังสะท้อนภาพความอุดมสมบูรณ์ หรือความสะอาดของแหล่งน้ำได้อีกด้วย
หนึ่งในประเด็นของเรื่องปลาที่เราเพิ่งเห็นกันไปไม่นาน คือ เรื่องมาตรา 69 ที่จะอนุญาตให้ใช้อวนตาถี่น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตร ล้อมจับสัตว์น้ำในตอนกลางคืนในระยะมากกว่า 12 ไมล์ทะเล ส่งผลกระทบต่อการประมงในทะเล เพราะขนาดตาข่ายที่เล็กมากจะทำให้จับลูกสัตว์น้ำติดมาด้วย และจะเป็นการตัดวงจรชีวิจของปลาทะเล ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับปลาทะเลเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม ปลาน้ำจืดเองก็ควรกังวลไม่น้อยเหมือนกัน เพราะกำลังโดนคุกคามด้วยภัยต่างๆ เช่น การสร้างเขื่อน การกีดขวางแม่น้ำ คุณภาพน้ำไม่ดีเท่าเดิม และส่งผลกระทบต่อชีวิตของปลาเหล่านี้เหมือนกัน
Data Visualization ชิ้นนี้ เลยอยากพาทุกคนลงเรือไปแกะกาพย์ของเจ้าฟ้ากุ้งในบทชมปลา คาดเดาชนิดของปลาที่เจ้าฟ้ากุ้งน่าจะเลือกใส่มาในกาพย์พร้อมเช็กสถานะของพวกมันว่าในอดีตและปัจจุบัน ส่องดูระบบแม่น้ำของเราแตกต่างจากเดิมแค่ไหน พร้อมพาไปดูภาพกว้างของปลาน้ำจืดไทยทั้งระบบแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายหลักของไทย และระบบน้ำอื่นๆ ที่ตกอยู่ในความสุ่มเสี่ยงไม่แพ้กัน ตลอดจนภัยคุกคามที่เราควรเร่งแก้ไข
Data Visualization ชิ้นนี้เป็น 1 ใน 3 ของเรื่องราวการเดินทางของเจ้าฟ้ากุ้งทั้งหมด สามารถอ่านกาพย์ชมนก งานชิ้นก่อนของเราได้ กดที่นี่
‘ปลา’ โดนคุกคามและเสี่ยงต่อสูญพันธุ์มากที่สุด
เมื่ออดีต เกือบ 300 ปีก่อน สายน้ำในสายตาของเจ้าฟ้ากุ้งนั้นมีแต่หมู่ปลาจำนวนมาก กาพย์เห่เรือบทชมปลา เริ่มต้นด้วยโคลงว่า
‘พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คลึงกัน
ถวิลสุดาดวงจันทร์ แจ่มหน้า
มัตสยาย่อมพัวพัน พิศวาส
ควรฤพรากน้องช้าชวด เคล้าคลึงชม’
โคลงสะท้อนความรู้สึกของเจ้าฟ้ากุ้งได้ชัดเจนว่าเหงา เพราะเมื่อมองเห็นหมู่ปลาว่ายเคล้าไปมา ก็ชวนให้นึกถึงน้องนาง แตกต่างกันที่พี่ไม่ได้อยู่ใกล้น้องให้ได้เคล้าคลอกัน และดูท่าแล้วเจ้าฟ้ากุ้งน่าจะบ่นครวญถึงสาวอยู่นาน เพราะจำนวนปลาในกาพย์นั้นมีมากถึง 17 ชื่อด้วยกัน ได้แก่ นวลจันทร์ คางเบือน ตะเพียนทอง กระแห แก้มช้ำ ปลาทุก น้ำเงิน กราย หางไก่ สร้อย เนื้ออ่อน เสือ แมลงภู่ หวีเกศ ชะแวง ชะวาด และ แปบ จากทั้ง 17 ชื่อนี้ บางตัวก็คุ้นหู บางตัวก็ใช้ชื่อเรียกอื่นในปัจจุบัน
เราแบ่งสถานะของปลาแต่ละชนิดตามหลักของ IUCN (องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ) คือ Extinct – สูญพันธุ์, EW – สูญพันธ์ในธรรมชาติ, CR ใกล้สูญพันธ์อย่างยิ่ง, EN ใกล้สูญพันธ์, VU มีแนวโน้มใกล้สูญพันธ์, NT ใกล้ถูกคุกคาม, DD ข้อมูลไม่เพียงพอ และ LC – ไม่ถูกคุกคาม ปลาในกาพย์เจ้าฟ้ากุ้งสถานะของปลาเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไร แต่พวกที่น่ากังวลก็น่ากังวลสุดๆ ไปเลยเหมือนกัน คือ มี 1 ตัวอยู่ในสถานะ EN ใกล้สูญพันธ์ุ คือปลาหางไก่ มีอีก 2 ตัวอยู่ในสถานะ VU มีแนวโน้มใกล้สูญพันธ์ุ คือ นวลจันทร์ และปลาทุก โดยปลาทุกได้ขยับสถานะขึ้นมาด้วยจากการบันทึกครั้งก่อน แปลว่าน้องกำลังเสี่ยงสูญพันธ์ุมากขึ้น และอีก เรามีปลาชนิดหนึ่งในกาพย์ที่สูญพันธ์ุไปแล้ว คือ ‘หวีเกศ’ ที่เจอได้แค่ที่เจ้าพระยาและบางปะกง
แม้ว่าสถานะจะไม่ค่อยกังวลมาก แต่จากข้อมูลจาก Our World in Data ชี้ว่า ‘ปลา’ คือสิ่งมีชีวิตที่โดนคุกคามมากที่สุด คือ 4,017 ชนิด สำหรับที่ 2 คือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ โดนคุกคามอยู่ประมาณ 2,900 ชนิด ห่างจากปลามากเกือบหนึ่งพันชนิด หรือลองเทียบกับนกที่เราพาไปดูกันครั้งที่แล้ว พบว่านกโดนคุกคามอยู่ประมาณ 1,300 ชนิดเท่านั้นเอง แต่ปลากลับก้าวกระโดดไปไกลกว่าชนิดอื่นมาก สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์การโดนคุกคามของปลาคือเรื่องจริงจังแต่เราอาจจะเผลอมองข้ามมันไป เพราะการใช้ชีวิตที่ไม่ได้ยึดโยงกับสายน้ำเหมือนเดิม
สถานะของปลา 17 ชนิดในกาพย์เจ้าฟ้ากุ้ง
วรรคแรกขึ้นต้นด้วย ‘นวลจันทร์เป็นนวลจริง เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา’ คือปลาชนิดแรกที่เจ้าฟ้ากุ้งพูดถึง ‘ปลานวลจันทร์’ อยู่ในสถานะ VU หรือมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ในภาพรวมของทั้งประเทศ แต่ถ้าเอาแค่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ถือว่าปลาชนิดนี้สูญพันธุ์ไปจากเจ้าพระยาแล้ว ปลานวลจันทร์น้ำจืดอาศัยอยู่ตามแม่น้ำใหญ่เป็นหลัก เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงตั้งแต่อยุธยาขึ้นไปถึงนครสวรรค์ไปจนถึงบึงบอระเพ็ด ส่วนทางภาคอีสานพบมากใน ลำน้ำโขง และทะเลสาบเขมร
ถัดมาวรรคต่อกัน ‘คางเบือนเบือนหน้ามา ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชาย’ เจอปลาคางเบือนไปทีก็นึกถึงตอนคนรักเค้าเบือนหน้ามาหา ปลาชนิดนี้อยู่ในสถานะ LC คือไม่มีแนวโน้มถูกคุกคาม เป็นปลาในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน พบเจอได้ตามลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่กลอง บางประกง และแม่โขง
‘เพียนทองงามดั่งทอง ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย กระแหแหห่างชาย ดั่งสายสวาทคลาดจากสม’ 4 วรรคนี้รวมได้เป็น 1 บาทถ้วน ประกอบไปด้วยปลาอยู่ 2 ชนิด คือ ตะเพียนทอง และกระแห ทั้ง 2 ตัวนี้ไม่ได้อยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วง ยังสามารถพบเจอได้หลายลุ่มน้ำของไทย ถัดมาปลาตัวที่ห้าของกาพย์ ‘แก้มช้ำช้ำใครต้อง อันแก้มน้องช้ำเพราะชม’ ได้ชื่อแก้มช้ำเพราะว่าบริเวณแผ่นปิดเหงือกมีรอยจ้ำสีแดงระเรื่อ คล้ายรอยช้ำที่แก้ม อยู่ในสถานะ LC คือไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร พบเจอได้ทั่วไทย อาศัยอยู่ในแม่น้ำสายหลักกับหนองบึงที่น้ำท่วมถึง และลำธารตามถ้ำได้อีกด้วย
แต่ว่าชนิดนี้ ในวรรคที่ว่า ‘ปลาทุกทุกข์อกกรม เหมือนทุกข์พี่ที่จากนาง’ กำลังอยู่ในสถานะน่ากังวล ในกาพย์เจ้าฟ้ากุ้งใช้คำว่า ปลาทุก อาจจะเพราะว่าอยากเล่นเสียงกับคำว่าทุกข์หรืออาจจะเป็นชื่อของมันจริงๆ ในยุคนั้น แต่ในปัจจุบัน เรารู้จักปลาชนิดนี้ในชื่อ ‘ปลาเค้าดำ’ เป็นปลามีขนาดใหญ่มาก อยู่ในสถานะ VU คือมีแนวโน้มใกล้สูญพันธ์ุ เพราะว่าหายากขึ้น คือยังพอเจอได้ในแม่กลองและแม่น้ำตาปี แต่ถ้าเจ้าพระยาเริ่มจะหายากมากขึ้นแล้ว
ตัวที่เจ็ดปลาน้ำเงินจากวรรรค ‘น้ำเงินคือเงินยวง ขาวพรายช่วงสีสำอาง ไม่เทียบเปรียบโฉมนาง งามเรืองเรื่อเนื้อสองสี’ ปลาน้ำเงินเป็นปลาที่อยู่ในสถานะไม่ถูกคุกคาม ยังไม่ต้องเป็นห่วงน้อง สามารถพบเจอได้หลายระบบแม่น้ำ ไม่ว่าจะแม่กลอง สาละวินตะวันออก เจ้าพระยา แม่โขง เช่นเดียวกันกับ ‘ปลากราย’ จากวรรค ‘ปลากรายว่ายเคียงคู่ เคล้ากันอยู่ดูงามดี แต่นางห่างเหินพี่ เห็นปลาเคล้าเศร้าใจจร’ ก็เป็นปลาที่ไม่ได้อยู่ในสถานะน่าเป็นห่วงเหมือนกัน
แม้ว่าสองตัวที่ผ่านมาไม่น่ากังวล แต่ตัวที่เก้านี้น่ากังวล กวีแต่งวรรคถัดมาว่า ‘หางไก่ว่ายแหวกว่าย หางไก่คล้ายไม่มีหงอน คิดอนงค์องค์เอวอร ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร’ สำหรับปลาหางไก่ เราเคยพบเจอปลาชนิดนี้ตั้งแต่อยุธยา-บางปะกง ต้องใช้คำว่าเคยเพราะตอนนี้อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ เพราะปลาหางไก่เป็นปลาเซนซิทีฟ คืออาศัยอยู่ในแม่น้ำที่มีคุณภาพเท่านั้น ไม่สามารถทนแหล่งน้ำเสียได้มาก เป็นเหมือนตัวชี้วัดความสะอาดและคุณภาพของน้ำ ปัจจุบันจึงหาเจอได้ยาก
‘ปลาสร้อยลอยล่องชล ว่ายเวียนวนปนกันไป เหมือนสร้อยทรงทรามวัย ไม่เห็นเจ้าเศร้าบ่วาย’ ถัดมาคือปลาสร้อย เราคาดว่าปลาสร้อยตัวที่เจ้าฟ้ากุ้งน่าจะเจอนั้นอยู่ในสถานะไม่น่ากังวล และยังไม่ถูกคุกคาม แต่ว่าปลาสร้อยชนิดอื่นๆ ในลุ่มแม่น้ำอื่นบางชนิดมีเสี่ยงโดนคุกคาม อย่างปลาสร้อยน้ำเงิน ชนิดที่พบเจอได้ตามลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำสงคราม อยู่ในสถานะ NT หรือใกล้ถูกคุกคาม
สถานะของปลา 17 ชนิดในกาพย์เจ้าฟ้ากุ้ง 2
เดินทางกันมาครึ่งทาง ปลาตัวที่ 11 ในกาพย์ของเจ้าฟ้ากุ้งถูกเอ่ยไว้ในวรรคที่ว่า ‘เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ เนื้อน้องฤๅอ่อนทั้งกาย ใครต้องข้องจิตชาย ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง’ ปลาเนื้ออ่อน หรือในปัจจุบันเราเรียกมันว่า ‘ปลาแดง’ พบเจอได้บ่อยที่จังหวัดอยุธยา และชนิดนี้ไม่อยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วง
ถัดมาที่ปลาอีกตัวที่มีชื่อเดียวกับเจ้าป่า ‘ปลาเสือเหลือที่ตา เลื่อนแหลมกว่าปลาทั้งปวง เหมือนตาสุดาดวง ดูแหลมล้ำขำเพราคม’ ตัวที่เจ้าฟ้ากุ้งน่าจะใช้มาแต่งเพื่อเปรียบเทียบกับสาวน่าจะเป็น ‘ปลาเสือพ่นน้ำ’ เพราะชนิดนี้พบเจอได้ตามอยุธยาได้ง่าย พร้อมความสามารถพิเศษที่สามารถพ่นน้ำออกมาได้เพื่อจับแมลง ปลาเสือยังเป็นปลาที่มีสายตาดี สามารถมองเห็นแมลงที่เกาะอยู่ตามกิ่งไม้ได้ ก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่กวีเลือกเปรียบเทียบตาของปลาเสือที่แหลมคม กับความสวยแบบขำเพราคมที่แปลว่าสวยซึ้งน่ามองนั่นเอง สำหรับตัวนี้ยังอยู่ในสถานะไม่น่าเป็นห่วง แต่ก็มีเสือบางชนิดเหมือนกันที่อยู่ในสถานะโดนคุกคาม
‘แมลงภู่คู่เคียงว่าย เห็นคล้ายคล้ายน่าเชยชม คิดความยามเมื่อสม สนิทเคล้าเจ้าเอวบาง’ วรรคนี้พูดถึงแมลงภู่ ที่ไม่ได้หมายถึงแมลง หรือหอย แต่เป็นชื่อปลาชนิดหนึ่ง ปัจจุบันเราเรียกมันว่า ‘ปลาชะโด’ เป็นปลาปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ โตเต็มที่ได้ถึง 1-1.50 เมตร อยู่ในสถานะไม่น่าเป็นห่วง สามารถพบเจอได้หลากหลายลุ่มน้ำ ไม่ว่าจะแม่โขง แม่กลอง เจ้าพระยา บางปะกง มีแหล่งที่อยู่อาศัยของตัวนี้ยังอยู่ได้หลากหลาย ทั้งแม่น้ำ หนองบึง ลำธารในถ้ำ ไปจนถึงบริเวณพรุ
วรรคถัดมาคือวรรคสำคัญ เพราะพูดถึงปลาที่เราหาดูไม่ได้อีกแล้ว ‘หวีเกศเพศชื่อปลา คิดสุดาอ่าองค์นาง หวีเกล้าเจ้าสระสาง เส้นเกศสลวยรวยกลิ่นหอม’ เปรียบเทียบเส้นผมของหญิงสาวเข้ากับชื่อของปลาหวีเกศ ซึ่งได้ชื่อนี้มาก็เพราะลักษณะหนวดแบน 4 เส้น คล้ายกับเส้นผมจริงๆ นั่นเอง ปลาหวีเกศ หรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ Platytropius siamensis ซึ่งการมีคำว่า ‘Siamensis’ หมายถึงว่าพบเจอได้ที่ประเทศไทยเท่านั้น
ไม่มีใครเจอปลาหวีเกศตามแหล่งน้ำธรรมชาติมาตั้งแต่ปี 2518-2520 นั่นหมายถึงว่าต้องเป็นรุ่นเจน X เท่านั้นถึงจะมีโอกาสได้เห็นปลาหวีเกศ ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2554 ว่าปลาชนิดนี้สูญพันธ์ุไปแล้ว ส่วนสาเหตุของการสูญพันธุ์ คาดว่าน่าจะเป็นเพราะมลพิษที่เกิดขึ้น ถ้าดูจากรูปจะเห็นว่าหวีเกศเป็นปลาเพียงตัวเดียวที่เราไม่สามารถหารูปจริงเข้ามาใส่ได้ จึงใช้เป็นรูปวาดแทน
และวรรคเกือบสุดท้ายของกาพย์ เป็นบาทสุดท้ายที่มีการพูดถึงชื่อปลา 3 ชนิด ‘ชะแวงแฝงฝั่งแนบ ชะวาดแอบแปบปนปลอม เหมือนพี่แอบแนบถนอม จอมสวาทนาฏบังอร’ ปลาที่ว่าคือชะแวง ชะวาด และแปบ สำหรับชะแวงกับชะวาด หรืออีกชื่อคือ ‘ปลาสังกะแวง’ และ ‘ปลาสังกะวาด’ โดยคาดว่าชื่อชะแวดและชะวาดแผลงเสียงมาจากภาษาเขมรในสมัยก่อน ทั้งสองตัวนี้ อยู่ในสถานะไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร ส่วนชะแวงหรือสังกะแวงพบเจอได้ที่แม่โขง เจ้าพระยา บางปะกง อาศัยอยู่ในแม่น้ำสายหลักและปากแม่น้ำ ส่วนชะวาดเจอได้ที่แม่โขง เจ้าพระยา บางปะกง และแม่กลอง อาศัยอยู่ในแค่แม่น้ำสายหลักเท่านั้น และท้ายสุด ‘แปบ’ ปลาตัวสุดท้ายที่เจ้าฟ้ากุ้งหยิบเข้ามาใส่ในการชมปลาครั้งนี้ ปลาแปบก็อยู่ในสถานะ LC คือไม่เสี่ยงโดนคุกคาม อาศัยอยู่ใน 2 ที่เท่านั้น คือลุ่มแม่น้ำโขง และลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
ท้ายสุด เจ้าฟ้ากุ้งจบกาพย์ด้วย ‘พิศดูหมู่มัจฉา ว่ายแหวกมาในสาคร คะนึงนุชสุดสายสมร มาด้วยพี่จะดีใจ’ ถอดความได้ว่าเมื่อมองดูหมู่ปลาแหวกว่ายชวนให้คิดถึงสาวคนรัก ถ้าได้มาด้วยกันคงเป็นเรื่องดี คนเขียนเลยลองคิดต่อเล่นๆ ว่าถ้าหากเจ้าฟ้ากุ้งมาเขียนกาพย์นี้ใหม่อีกครั้งจะยังได้มีห้วงเวลาแห่งความคิดถึงได้เท่าเดิมมั้ย เพราะปลาอาจจะมีจำนวนน้อยลง และสภาพแม่น้ำลำคลองที่เปลี่ยนไปก็ด้วยเหมือนกัน กาพย์ก็คงจะสั้นลงอยู่บ้าง
เหล่าปลาน้ำจืดและถิ่นที่อยู่
นอกจากเรื่องของสถานะที่น่าสนใจแล้ว ข้อมูลจาก Checklist of freshwater fishes in Thailand ยังมีเรื่องการแบ่งระบบแม่น้ำ และแหล่งที่อยู่อาศัยไว้อีกด้วย โดยระบบแม่น้ำมีด้วยกันทั้งหมด 7 แหล่ง คือ ระบบแม่น้ำอัตรัน ระบบแม่น้ำสาละวิน ระบบแม่น้ำแม่กลองและเพชรบุรี ระบบแม่น้ำในภาคใต้ฝั่งตะวันตก ระบบแม่น้ำในภาคใต้ฝั่งตะวันออก ระบบแม่น้ำในภาคตะวันออก ระบบแม่น้ำเจ้าพระยา ระบบแม่น้ำบางปะกง และ ระบบแม่น้ำโขง
ถ้าดูจากสถานที่เห็นแล้วว่าเจ้าฟ้ากุ้งอาจจะเจอได้ที่ระบบแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นส่วนใหญ่ แต่เราอยากรู้ว่าปลาพวกนี้เราไปพบเจอที่ไหนได้อีกบ้างจึงนำมาจัดกลุ่มตามระบบแม่น้ำที่พวกมันอาศัย ถ้าหากดูจากภาพจะเห็นว่ามีปลาหน้าตาเหมือนกัน กระจายตัวอยู่ตามหลายลุ่มน้ำ เพราะว่าปลาชนิดหนึ่งสามารถอยู่ได้หลายที่
เมื่อแบ่งออกมาตามลุ่มแม่น้ำ จะพบว่า
- ในลุ่มแม่น้ำอัตรัน และระบบแม่น้ำสาละวิน ไม่มีปลาตามชื่อในกาพย์ที่อาศัยอยู่เลย
- ระบบแม่น้ำที่มีปลาตามชื่อในกาพย์จำนวนมากคือระบบแม่น้ำแม่กลองและเพชรบุรี คือ 13 ชนิด ได้แก่ คางเบือน ตะเพียนทอง กระแห แก้มช้ำ ปลาทุก น้ำเงิน หางไก่ เสือ แมลงภู่ และชะวาด
- ระบบแม่น้ำในภาคใต้ตะวันตกมีด้วยกัน 2 ชนิดคือ กระแหและแก้มช้ำ
- แต่ระบบแม่น้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีเยอะกว่า มีด้วยกัน 6 ชนิด คือ ตะเพียนทอง กระแห แก้มช้ำ น้ำเงิน หางไก่ และแมลงภู่
- ต่อมาที่ระบบแม่น้ำในภาคตะวันออกมีด้วยกัน 7 ชนิด คือ ตะเพียนทอง กระแห แก้มช้ำ น้ำเงิน สร้อย เสือพ่นน้ำ และแมลงภู่
- ระบบแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายหลักของไทย มีปลาในกาพย์อาศัยอยู่ถึง 12 ตัว คือ ตะเพียนทอง กระแห แก้มช้ำ ปลาทุก น้ำเงิน หางไก่ เสือ แมลงภู่ หวีเกศ ชะแวง ชะวาด และแปบ
- ถัดมาที่ ระบบแม่น้ำบางปะกง มี 7 ชนิด คือ น้ำเงิน หางไก่ เสือ แมลงภู่ หวีเกศ ชะแวง และ ชะวาด
- และท้ายสุดที่ระบบแม่น้ำโขง มีด้วยกันทั้งหมด 6 ชนิด คือ น้ำเงิน เสือ แมลงภู่ ชะแวง ชะวาด และแปบ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปลาชนิดหนึ่งจะสามารถอยู่ได้หลากหลายระบบแม่น้ำ แต่ก็ยังมีความแตกต่างของพื้นที่และชนิดของมัน แถมในปัจจุบัน ปลาบางชนิดก็ไม่สามารถเจอได้ที่ลุ่มแม่น้ำเดิม ต้องไปตามหาเอาจากระบบแม่น้ำอื่นแทน แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบแม่น้ำที่เกิดขึ้นได้ อย่างเช่น ปลานวลจันทร์ที่แม้ยังไม่สูญพันธ์ุ แต่ในระบบแม่น้ำเจ้าพระยาถือว่าเจ้าตัวนี้สูญพันธ์ุไปแล้ว เพราะไม่สามารถหาเจอได้อีก หรืออย่างปลาทุก (เค้าดำ) และปลาหางไก่ ก็เริ่มหาตามระบบแม่น้ำเจ้าพระยาได้ยากมากขึ้นกว่าเดิม และแน่ๆ กับหวีเกศที่สูญพันธุ์ไปแล้วไม่ว่าจะที่ระบบแม่น้ำไหนก็ตาม
22% ของปลาใน Indo-Burma โดนคุกคาม
จากปลาทั้งหมด 17 ชนิดในกาพย์ของเจ้าฟ้ากุ้ง เกินครึ่งพบว่ามีแหล่งอาศัยอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หากเทียบเคียงกับแนวความคิดที่ว่าเจ้าฟ้ากุ้งแต่งกาพย์เห่เรือขึ้นเพื่อใช้ในการเดินทางทางแม่น้ำจากอยุธยาถึงสระบุรี ก็อาจสมเหตุสมผลว่าทำไมปลาส่วนใหญ่ถึงมาจากลุ่มแม่น้ำนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใ่ช่แค่ปลาที่ถูกเอ่ยถึงในกาพย์เท่านั้นที่สูญพันธ์ุ มีปลาอีกหลายชนิดที่สูญพันธุ์ไปจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาของเราแล้วเหมือนกัน เช่น ปลายี่สก ปลากระโห้ และปลาเทพา
หากถอยออกมามองในมุมกว้าง ทั้ง 7 ลุ่มแม่น้ำทั้งหมดที่เราเล่าไปอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เรียกว่าพื้นที่ Indo-Burma เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง (Biodiversity Hotspot) กำหนดโดย Conservation International โดยพื้นที่แห่งนี้ 2,373,000 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งเอเชียหลายประเทศที่มีระบบนิเวศใกล้เคียงกัน พื้นที่นี้ลากยาวไปหลายพื้นที่ คือทั้งหมดของพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ไทย และบางส่วนฝั่งใต้และตะวันตกของมณทลยูนนานของประเทศจีน และบางส่วนของมาเลเซีย
พื้นที่นี้จึงเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ พืชพรรณ สัตว์ต่างๆ มากมาย แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลายอย่างกำลังส่งผลให้พื้นที่แห่งนี้ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม ข้อมูล RED LIST จาก IUCN พบว่า ปลามี 1 ชนิดในพื้นที่นี้นี้สูญพันธุ์แล้วอย่างแน่นอน คือ ‘ปลาหวีเกศ’ ตัวเดียวกับในกาพย์ มีปลาที่กำลังโดนคุกคามอยู่มากถึง 13% จากทั้งหมด และมีอีกประมาณ 112 ชนิดของสายพันธุ์ปลาทั้งหมดถูกจัดไว้ในกลุ่มโดนคุกคาม ทั้งแบบ Critically Endangered ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง Endangered ใกล้สูญพันธุ์ และ Vulnerable มีแนวโน้มใกล้สูญพันธ์ุ และอีก 33 สายพันธุ์ กำลังอยู่ในสถานะใกล้โดนคุกคาม และอาจเกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในอนาคต
ภัยคุกคามหลักๆ ที่เกิดขึ้นในลุ่มแม่น้ำนี้ คือการพัฒนาของเมืองและการเกษตร โดยเฉพาะในไทย พม่าและเวียดนาม แม่น้ำบางส่วนถูกทำลายไปด้วยเพราะการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จำนวนมาก เพื่อผลิตไฟฟ้า หรือเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับสายน้ำ กระทบอุณหภูมิ ออกซิเจนที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในนั้นเพิ่มขึ้น
‘ปลา’ คือส่วนหนึ่งของชีวิต

ปลาคือส่วนสำคัญของระบบนิเวศน้ำจืด เพราะทำหน้าที่หลายอย่าง เพื่อช่วยให้ระบบนิเวศของพื้นที่นั้นๆ ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่ หน้าที่สำคัญของปลาคือการเป็นผู้ล่าและเหยื่อ ช่วยควบคุมประชากรของแมลงน้ำ แพลงก์ตอน และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ เช่น หอยและกุ้ง หากไม่มีปลา สิ่งมีชีวิตบางชนิดอาจแพร่ขยายมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อสมดุลของระบบนิเวศ พร้อมยังเป็นแหล่งอาหารให้กับปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่น และช่วยรักษาสมดุลของแหล่งที่อยู่อาศัย ตลอดจนปลาน้ำจืดยังเป็นตัววัดคุณภาพของพื้นที่แหล่งน้ำได้ดี ยิ่งมีจำนวนประชากรปลาเยอะ ยิ่งแปลว่าแหล่งน้ำนั้นเหมาะแก่การอยู่อาศัย เพราะปลาตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำ เช่น อุณหภูมิ มลพิษ รวมถึงทำหน้าที่แลกเปลี่ยนสารอาหาร เช่น ไนโตรเจนและฟอสฟอรัสผ่านของเสียจากร่างกาย ซึ่งช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชน้ำและแพลงก์ตอนพืช ทำให้ระบบนิเวศมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น
นอกจากนั้นแล้ว อีกหน้าที่หนึ่งของปลาน้ำจืดคือเป็นแหล่งโปรตีนที่หล่อเลี้ยงมนุษย์ มาตั้งแต่ได้ก่อกำเนิดมานับแสนปี และสัตว์กินเนื้อในบริเวณพื้นที่นั้นๆ ทั้งในแง่การกินในชีวิตประจำวันและการค้าขาย ตัวอย่างเช่น บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงตอนล่าง มีการจับปลาและสัตว์ชนิดอื่นๆ ได้ปีละ 2.3 ล้านตัน ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนจากสัตว์ประมาณ 50 ถึง 80% สำหรับอาหารของภูมิภาคนี้ หรือเมื่อสมัยก่อน ในปี 2492 ที่แหล่งน้ำในหนองบางงู อ. โพธาราม จ. ราชบุรี มีรายงานว่า จับปลาจากหนองเดียว ได้ถึงปีละ 3,000 ตัน เป็นมูลค่า 1.6 ล้านบาทในขณะนั้น และเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ อย่างประเทศแถบแอฟริกาที่มีรายได้ต่ำก็มีปลาน้ำจืดเป็นอาหารหลัก รวมถึงมากกว่า 100 ชนิดมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นด้วยเหมือนกัน การหายไปของกลุ่มปลาน้ำจืดเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจของเมืองได้เหมือนกัน
ส่วนมนุษย์เองก็ขาดระบบนิเวศน้ำจืดไปไม่ได้ เพราะการเข้าถึงแหล่งน้ำคือความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เป็นแหล่งอาหารสำหรับบางประเทศที่มีรายได้ต่ำ และแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของบางประเทศ อย่างไรก็ตามมนุษย์พาตัวเองถอยห่างออกจากน้ำมาเรื่อยๆ ย้ายจากการเป็นชาวน้ำมาเป็นชาวบก และไม่ได้ให้ค่าของน้ำ ปลา และระบบนิเวศของมันเท่าเดิม
สัตว์น้ำจืดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคามมากที่สุด
ทั้งโลกเรามีแหล่งน้ำจืดเพียงแค่ 1% เท่านั้น แต่เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากถึง 10% ของทั้งหมดทั่วโลก เป็นบ้านของสัตว์มีกระดูกสันหลังถึง 25% และพืชน้ำอีกประมาณ 2,600 ด้วยกัน เรียกได้แหล่งน้ำเดียว แต่เป็นบ้านให้กับสิ่งมีชีวิตได้หลากหลายและมหาศาล ประกอบกับข้อมูลจาก Living Planet Report 2020 พบว่าภายในระยะเวลา 50 ปี ปลาน้ำจืดลดลงอย่างรวดเร็วสามเท่าเทียบกับสิ่งมีชีวิตอื่นบนบกและในทะเล รวดเร็วมากกว่าระบบนิเวศประเภทอื่นๆ ถึงสองเท่าด้วยกัน อีกทั้งยังมีภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อเส้นทางการอพยพและขยายพันธุ์อีกด้วย ทำให้สถานการณ์ของแม่น้ำและปลาน้ำจืดควรได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน แต่ในปัจจุบันกลับพบว่ามีแม่น้ำเพียงแค่ 17% เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครอง พื้นที่แม่น้ำอื่นๆ ยังขาดการสนับสนุน พร้อมกรอบการดูแลรักษาและป้องกันแม่น้ำที่ชัดเจน
นอกจากปลาก็สำคัญ พื้นที่อยู่อาศัยของมันก็ต้องสำคัญไม่แพ้กัน ทั้งแม่น้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญอย่างมากในเรื่องของระบบนิเวศและการดำรงชีวิต อารยธรรมของมนุษย์เองก็เติบโตขึ้นได้ก็เพราะแม่น้ำ เพราะแม่น้ำให้ทั้งน้ำจืดและแหล่งอาหาร แถมยังเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก แม่น้ำจึงเป็นเหมือนสายเลือดหลัก และพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ Wetland เปรียบเสมือนสายเลือดรอง พื้นที่ชุ่มน้ำมักเป็นที่ราบลุ่ม ชื้นแฉะ หรือเป็นแหล่งน้ำที่มีระดับน้ำเปลี่ยนแปลง และมีการไหลเวียนของน้ำตามฤดูกาล ทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำ กักเก็บน้ำฝนและกันไม่ให้น้ำเค็มรุกเข้ามาในแผ่นดิน ช่วยป้องกันช่วยฝั่งพังทลาย พร้อมดักจับสารพิษ ตะกอน และแร่ธาตุ เป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรและผลผลิตธรรมชาติต่างๆ และสำคัญ เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน้ำจืด
ส่วนตอนนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำกระจายอยู่ทั่วประเทศ คิดเป็น 7.5% ของพื้นที่ทั้งหมด การรักษาพื้นที่แม่น้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากขึ้น ตรงกับจุดประสงค์ของ ‘อนุสัญญาแรมซาร์’ อนุสัญญาที่ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในการเป็นถิ่นที่อยู่ของนกน้ำ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคีอนุสัญญาแรมซาร์ ลำดับที่ 110 ตั้งแต่ปี 2541 เพื่อดำเนินงานอนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้ขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ทั้งหมด 15 แห่งด้วยกัน
โลกร้อน มลพิษ เขื่อน และการพัฒนา คุกคามปลาทั่วโลก
สถานการณ์ของปลาในน้ำจืดกำลังหายไปจากแหล่งน้ำอย่างรวดเร็ว สาเหตุเกิดจากการกระทำของมนุษย์หลายอย่าง ตั้งแต่การสร้างเขื่อนบนพื้นที่ชุ่มน้ำ และที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่วางแผนไม่ดี การสูบน้ำออกมากเกินไปเพื่อการเกษตร การทำประมงที่ไม่ยั่งยืน มลพิษ สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นอย่างปลาหมอคางดำ การขุดทราย การทำเหมือง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาเหตุพวกนี้ประกอบกันทำให้ส่งผลกระทบต่อปลาน้ำจืดพื้นเมืองมากขึ้น
อย่าง ‘ปลาหมอคางดำ’ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่เราได้ยินข่าวเมื่อไม่นานมานี้ ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ที่กำลังส่งผลร้ายต่อปลาพื้นเมือง ถิ่นกำเนิดปลาหมอคางดำมาจากทวีปแอฟริกา ถูกนำเข้ามาครั้งแรกตั้งแต่ปี 2549 เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ของปลานิลบ้านเรา และมีรายงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าพบเจอปลาชนิดนี้อยู่มากขึ้น ปัญหาคือปลาชนิดนี้กำลังทำลายระบบนิเวศ ปลาท้องถิ่น เพราะว่าที่ทนกับสภาพอากาศ น้ำเค็มได้สูง แพร่พันธุ์ได้ไว และสามารถกินได้ทั้งพืชและสัตว์และจำทำให้ระบบนิเวศของพื้นที่ที่มันอยู่ไม่สมดุล โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 มีม็อบปลาหมอคางดำจากชาวประมง 19 จังหวัด เทปลา 5 ตันหน้าทำเนียบ เพื่อทวงถามถึงข้อเรียกร้องและการช่วยเหลือจากรัฐบาล สะท้อนว่าปัญหาการแพร่ระบาดของเอเลี่ยนสปีชี่ส์ตัวนี้กำลังส่งผลกระทบรุนแรงและเป็นวงกว้างมากขึ้น เป็นปัญหาไปถึงอาชีพเกษตรกรของไทย
ปัญหาการใกล้สูญพันธุ์ของปลาเกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย ทางฝั่งละตินอเมริกาและแคริบเบียนมักเกิดจากปัญหาโลกรวน เช่น เชื้อราที่สัมพันธ์กับอากาศ และส่งผลต่อการใช้ชีวิตสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกบางชนิดในอเมริกาใต้ ตลอดจนนกบางชนิดในป่าอเมซอนหายไปจากภาวะโลกร้อน แต่ถ้าเป็นฝั่งอเมริกาเหนือ เอเชีย และแปซิฟิก สาเหตุหลักที่มีการบันทึกไว้เยอะสุดว่าคุกคามคือ ปัญหาจากมลพิษที่เพิ่มขึ้น รองลงมาคือปัญหาเอเลี่ยนสปีชี่ส์ และโรคต่างๆ
ส่วนปลาน้ำจืดในไทย มีภัยคุกคามอยู่ 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้ปลาหายไปจากแม่น้ำได้อย่างรวดเร็ว อย่างแรกคือสถานการณ์น้ำเน่าจากการปล่อยของเสียของบ้านเรือนและโรงงาน น้ำเน่าส่งผลให้ปลาขาดออกซิเจนและทำให้ปลาตายได้อย่างรวดเร็ว เป็นผลพวงมาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองโดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพแวดล้อม และอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องพูดถึง คือ ‘เขื่อน’ การสร้างโครงสร้างคอนกรีตขนาดยักษ์ขวางทางน้ำที่เคยไหลได้อย่างอิสระ ให้กลายเป็นแอ่งน้ำนิ่งขนาดใหญ่แทนสร้างผลกระทบให้กับปลาหลายชนิด เพราะการสร้างเขื่อนสามารถกักเก็บ ควบคุม และสามารถเลือกช่วงเวลาที่จะปล่อยน้ำลงมาในแม่น้ำได้ ทำให้สิ่งมีชีวิตอย่างปลาไม่สามารถอยู่ได้ บางสายพันธุ์มีลักษณะของการว่ายน้ำเพื่อวางไข่ แต่เมื่อน้ำนิ่งทำให้ปลาพวกนี้ไม่สามารถไปวางไข่และขยายพันธุ์ได้เหมือนเดิม
จากการศึกษาผลกระทบของเขื่อนที่แม่น้ำโขงตอนล่าง พบว่าแนวโน้มความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของปลาถดถอยลง โดยมีทั้งสายพันธุ์ท้องถิ่น สายพันธุ์อพยพ และบางตัวอยู่ในบัญชีของ IUCN โดยจากการศึกษาติดตามผลระยะเวลา 7 ปี พบว่าปลาลดจำนวนลงไปเกือบครึ่งเท่าตัว ในขณะที่เปรียบเทียบกับอีกพื้นที่ที่มีเขื่อนน้อยกว่าพบว่าปลามีการขยายพันธุ์มากขึ้นกว่าเดิม
ปัจจุบันมีแม่น้ำเกือบ 200 แห่งทั่วโลกที่มีสิ่งกีดขวางต่างๆ ทั้งเขื่อน การสร้างถนน การเปลี่ยนนิเวศสู่พื้นที่เกษตรกรรม อย่างในเอเชียเองก็เหลือแค่เพียงแม่น้ำสาละวินเท่านั้นที่ยังไม่มีโครงการเขื่อนลงไปตั้ง การควบคุมแม่น้ำตามใจนึกของมนุษย์ทำให้เราอาจต้องแลกมาด้วยพันธุ์ปลาและสิ่งมีชีวิตอีกหลากหลายชนิดที่สูญหายไป และส่งผลกระทบอื่นๆ ในระบบนิเวศตามมา เพียงแค่เราอาจจะยังไม่รู้ตัวในตอนนี้เท่านั้นเอง