(หนีพลาสติก) ปะ กระดาษ ภายใต้กระดาษแผ่นบาง คือ ป่าไม้ น้ำสะอาด และพลังงานที่มองไม่เห็น

เจ้าแผ่นบางๆ สีขาว (หรือสีอื่นๆ แล้วแต่) กระดาษคือหนึ่งในนวัตกรรมเปลี่ยนโลกของมนุษยชาติ เป็นหนึ่งในการประดิษฐ์สำคัญของมนุษย์ตั้งแต่กระดาษปาปิรุสจากลำต้นกกแถวริมแม่น้ำไนล์ มาจนถึงช่วงของจีนที่ทำให้กระดาษออกมาหน้าตาอย่างที่เราคุ้นเคย กระดาษทำให้เราติดต่อกันได้ง่ายขึ้น ส่งข้อมูลหากัน สืบทอดเรื่องราวต่อๆ กันมาผ่านกระดาษที่รวมกันหลายหน้าจนกลายเป็นสมุดหรือหนังสือ ทำให้เราคุ้นกันว่ากระดาษคือหนึ่งในส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์มาตลอด 

แท้จริงแล้ว กระดาษเป็นได้มากกว่านั้น และกระดาษมีเรื่องราวในตัวมันเองมากกว่าแค่ทำหน้าที่โดนขีดเขียน การผลิตกระดาษในครั้งหนึ่งใช้พลังงาน และต้นทุนทางธรรมชาติมากกว่าที่เราคิดไว้ และการัจดการดูแลกระดาษให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นยังจบ ถ้าไม่ทำให้ดี ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาใหม่ๆ ตามมาที่เราต้องหาทางแก้ต่อ ในปัจจุบันที่โลกหักมารณรงค์ให้เลือกใช้กระดาษแทนพลาสติก เพราะว่าทำลายโลกน้อยกว่าก็อาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไป 

DataHatch อยากจะชวนอ่านดาต้าสนุกๆ ของ ‘กระดาษ’ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น การผลิตในปัจจุบัน แนวโน้มของราคาในท้องตลาด ไปจนถึงความเกี่ยวพันของโรงงานกระดาษกับสิ่งแวดล้อม และภาพลักษณ์ของการรักษ์โลก พร้อมตั้งคำถามถึงโลกยุคหน้า (หรือคืออีกไม่กี่พริบตาจากตอนนี้) ว่าเรายังจำเป็นต้องใช้กระดาษกันอยู่มั้ย หรือพื้นที่การจดบันทึกและเรียนรู้ของมนุษยชาติจะเปลี่ยนหน้าตาไปอย่างไรดี

 

กระดาษไทยมีแนวโน้มการส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้น

 

ปัจจุบัน ‘กระดาษ’ ไม่ได้ทำหน้าที่มากกว่าหน้าสมุด หนังสือ เพราะกระดาษได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการบรรจุภัณฑ์ ห่อหีบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น คล้ายๆ กับสถานการณ์โลกที่ได้บอกไปว่ากระดาษผลิต นำเข้า และส่งออก มากกว่าแค่กระดาษสำหรับหนังสือ สำหรับประเทศไทย กระแสกระดาษที่นำเพื่อนมาเลย คือ กระดาษลูกฟูกและกระดาษบรรจุภัณฑ์ การใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษเพิ่มมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ชีวิตคนเราเปลี่ยนไป และสั่งของออนไลน์กันมากขึ้น

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มูลค่าของการนำเข้ากระดาษกำลังเพิ่มขึ้น คือปี 63 มีมูลค่าอยู่ที่ 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากนั้นจึงกระโดดเพิ่มมาอยู่ที่ประมาณ 3,200 – 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงตั้งแต่ปี 2564 – 2567 ส่วนด้านมูลค่าของการส่งออก จากปี 63 อยู่ที่เกือบ ๆ 2 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 64 และ 65 ส่วนอีก 2 ปีล่าสุดอยู่ที่ 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทางสำนักงานได้ประเมินต่อว่าธุรกิจกระดาษจะเติบโตต่อเนื่องในปี 2568 จากทั้งการบริโภคภายในประเทศ การท่องเที่ยวที่ขยายตัว ความนิยมในการสั่งสินค้าและอาหารออนไลน์ การเติบโตของธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษกำลังเติบโตขึ้นจริงๆ พร้อมยังมีข้อมูลอีกว่า ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับกระดาษเป็นจำนวนมากในช่วงปี 2-3 ปีที่ผ่านมา ให้กับหลายๆ ประเทศ แนวโน้มอุตสาหกรรมปี 2568 รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม บอกว่า แนวโน้มปีหน้าของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและบรรจุภัณฑ์ จะเติบโตขึ้นได้อีก นอกจากนี้ยังมีส่วนให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเติบโตตาม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องมือแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการซื้อขายผ่านออนไลน์ 

สหรัฐฯ จีน 2 ประเทศมหาอำนาจส่งออกและนำเข้ากระดาษ

ให้เห็นภาพกระดาษในโลกนี้มากขึ้น เราเลยหยิบข้อมูลจากปี 2023 จาก OEC World พบว่าประเทศที่ผลิตกระดาษออกมากที่สุดคือ ประเทศจีน คิดเป็นสัดส่วน 12% จากตลาดทั้งหมด รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา 9.7% และ เยอรมนี 9.4% ถัดมาคือ สวีเดน ฟินแลนด์ อิตาลี ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 0.9% ในตลาดนี้ ในขณะเดียวกัน ประเทศที่มีการนำเข้ากระดาษมากที่สุดกลับเป็นสหรัฐอเมริกา คือ 10.1% สลับกันกับจีนที่ 9.9% ตามมาด้วย เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักรและอิตาลี ส่วนประเทศไทยมีการนำเข้ากระดาษอยู่ที่ 1.1% แปลว่าเรามีการนำเข้ามากกว่าการส่งออก 

ถ้าลองมามองที่สัดส่วนของ ‘ประเภทกระดาษ’ ดูบ้างว่าประเภทไหนที่ส่งออกเยอะ ในตลาดทั้งหมดทั่วโลก จากมูลค่าทั้งหมดคือ 295 ล้านดอลลาร์ อันดับแรกมีมูลค่า 38.6 ล้านดอลลาร์ คือ Sulfate chemical woodpulp หรือกระดาษที่ทำจากสารเคมีซัลเฟต เป็นกระดาษสีน้ำตาล เหนียว ใช้สำหรับทำวัสดุที่มีความเหนียว แข็งแรง เช่น กล่องใส่เอกสาร ถุงกระดาษ ชั้นวางเอกสาร รองลงมาคือ Toilet paper หรือกระดาษชำระทั่วไปแบบที่เราใช้กันทุกวัน มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 32.2 ล้านดอลลาร์ อันดับสามคือ Paper containers ลังกระดาษ มีขนาดมีความแข็งแรงแตกต่างกันไป มักใช้สำหรับระบบขนส่งเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารเคมีหรือเม็ดพลาสติก และสินค้าอื่นๆ ทั่วไป มีมูลค่าในการส่งออกอยู่ที่ 29.3 ล้านดอลลาร์ อันดับ 4 คือ Kaolin coated paper กระดาษเคลือบดินขาว เป็นดินเหนียวประเเภทหนึ่งที่ช่วยให้เนื้อกระดาษทึบแสง หนา และเรียบขึ้น เหมือนใช้สารนี้ในการเคลือบเนื้อกระดาษอีกที อันดับนี้มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 25.1 ล้านดอลลาร์ และอันดับห้าท้ายสุดคือ Kraft paper หรือ กระดาษคราฟท์ เป็นกระดาษที่ผลิตมาจากเยื่อเคมี จากกระบวนการคราฟท์ เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อแปรสภาพจากเนื้อไม้มาเป็นเยื่อกระดาษไม้ มูลค่าอยู่ที่ 14.1 ล้านดอลลาร์

อุตสาหกรรมกระดาษใช้พลังงานมากอันดับ 3 ของโลก 

ดูจากแนวโน้มของโลกและไทยก็ดูจะเป็นเรื่องดีของวงการกระดาษที่น่าจะไปต่อได้หลายทาง ประเด็นอยู่ที่เมื่อเรามองด้านการผลิต เราจะพบว่าอุตสาหกรรมกระดาษใช้พลังงานมากกว่าอุตสาหกรรมการบินเกือบสามเท่าด้วยซ้ำ และแค่เราพิมพ์ใบปลิว กระดาษโฆษณา หรือจะกระดาษไม่กี่ใบก็มีคาร์บอนฟุตพริ้นต์แอบมาทักทายแล้ว 

การผลิตกระดาษเพียง 1 แผ่น ใช้ทรัพยากรโลกหลายส่วนมาก อย่างที่เรารู้กันและถูกทำให้รู้มาตั้งแต่เด็กๆ คือ ต้องใช้กระดาษอย่างประหยัดและคุ้มค่า เพราะกระดาษ 1 แผ่นถูกผลิตมาจากต้นไม้อายุประมาณ 3-5 ปี เป็นต้นกระดาษ คือเป็นต้นไม้ที่ปรับแต่งพันธุกรรมมาจากต้นยูคาลิปตัส โดยอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษใช้ไม้จากอุตสาหกรรมไม้ถึง 33-40% ทั่วโลก เรียกว่าเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ส่งผลกับวงการไม้ไม่น้อย

แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ นอกจากต้นไม้ สิ่งที่กระดาษใช้เพื่อผลิตออกมาแต่ละครั้ง คือพลังงานไฟฟ้าและน้ำที่ค่อนข้างเยอะ อีกทั้งยังมีเรื่องของสารเคมีเข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างกระดาษอีกด้วย ในกระบวนการผลิตกระดาษเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเยอะมาก โดยเฉพาะขั้นตอนการแยกน้ำออกจากกระดาษ  และอยู่ในท็อปไฟว์ของระดับโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 6% ของการใช้พลังงานของทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเต็มๆ 2% เทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ สองประเทศที่ผลิตเยอะมากที่สุดคือสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน ผอย่างไม่น่าแปลกใจเพราะก็เป็นสองประเทศที่ผลัดกันส่งออก รับเข้ากันอยู่อย่างนั้น  

ส่วนทวีปยุโรปมีข้อมูลแยกมาโดยเฉพาะ จากข้อมูลของ eurostat บอกว่า อุตสาหกรรมกระดาษเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงที่สุด อันดับ 3 ในสหภาพยุโรป คิดเป็น 13.5% รองจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมแร่อโลหะเท่านั้น โดยในปี 2021 อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษใช้พลังงานไปทั้งหมด 1,361 เพตะจูล ในปี 2021 แม้ว่าจะมีการใช้สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น แต่ฟอสซิลและแก๊สธรรมชาติยังเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมนี้อยู่ไม่น้อย เพื่อใช้เพื่อผลิตไอน้ำ ซึ่งจำเป็นสำหรับการรีไซเคิลกระดาษและการทำให้กระดาษแห้ง 

ไม่ใช่แค่ไฟฟ้า กระดาษก็ใช้ ‘น้ำ’ เยอะไม่แพ้กัน

นอกจากจะกินไฟแล้ว อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษยัง ‘กินน้ำ’ แบบจุใจอีกด้วย เพราะในกระบวนการผลิตกระดาษหนึ่งแผ่นนั้น ต้องใช้น้ำในสัดส่วนที่มากถึง 100:1 เมื่อเทียบกับน้ำหนักเยื่อกระดาษ และยังต้องใช้น้ำต่อเนื่องในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะผสมเยื่อ ล้างสารเคมี หรือรีดน้ำออกจากแผ่นกระดาษ หากไม่มีระบบหมุนเวียนหรือนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ โรงงานหนึ่งอาจใช้น้ำมากถึง 300-400 ลิตร ต่อการผลิตกระดาษเพียง 1 กิโลกรัม เท่านั้น เปรียบเทียบง่ายๆ คือแทงค์น้ำขนาดใช้ในบ้าน 1 ถัง สามารถผลิตกระดาษ A4 ได้ประมาณครึ่งรีมแค่นั้น 

โดยข้อมูลจาก Fisher Solve เผยว่า ในแต่ละวัน อุตสาหกรรมนี้ใช้น้ำรวมกันทั่วโลกถึง 91 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทวีปเอเชียแปซิฟิกครองแชมป์การใช้น้ำสูงสุดที่ 36% ตามด้วยอเมริกาเหนือ 32.6% และยุโรป 21.3% ส่วนประเทศตัวท็อปที่ใช้น้ำเยอะที่สุดคือ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น แคนาดา และอินโดนีเซีย แน่นอนว่าการใช้น้ำในปริมาณมากแบบนี้ย่อมตามมาด้วย ‘น้ำเสีย’ ปนเปื้อนเคมีจำนวนมหาศาล สร้างมลพิษให้แหล่งน้ำจืด และกระทบต่อระบบนิเวศและคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนี่ยังไม่นับรวมพลังงานมหาศาลที่ต้องใช้ในการสูบน้ำ บำบัดน้ำเสีย และขนส่งน้ำ ซึ่งล้วนแต่เพิ่มการปล่อยคาร์บอน นอกจากน้ำเสียและการใช้พลังงานสุดโหด กระบวนการผลิตเยื่อกระดาษยังทิ้งของไว้อีกด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่เศษไม้หรือตะกอนธรรมดา แต่รวมถึงสารตกค้างอินทรีย์อย่าง ลิกนิน เฮมิเซลลูโลส เรซิน โซดาไฟ และพวกสารอินทรีย์ระเหยง่าย และยังมีของเสียอนินทรีย์อย่างเถ้า ตะกรัน และเกลืออีกเพียบ สารเคมีพวกนี้ถ้าหากจัดการไม่ดี ก็อาจส่งผลกระทบต่อดิน น้ำ และสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศโดยรอบได้แบบเงียบๆ แต่รุนแรง

ต้นทางถึงปลายทาง กระดาษสร้างมลพิษทิ้งไว้ทั้งหมด

กระดาษยังสร้างผลเสียมากกว่าแค่การกินน้ำกินไฟ ถ้ามองในมุมที่กว้างขึ้นมากกว่าแค่เรื่องพลังงาน น้ำ ไฟ ที่อาจจะดูจับต้องไม่ค่อยได้ สิ่งที่จับต้องได้เห็นชัดกว่า คือ ‘โรงงานกระดาษ’ ข้อมูลหลายที่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า โรงงานกระดาษผลิตสิ่งที่เราคิดว่าดีและอนุรักษ์โลกออกมา แต่ว่ากระทบกับสุขภาพคนอาศัยโดยรอบ ไม่ต่างกันกับโรงงานอื่นทั่วไปเลย ตัวอย่างที่เมือง Kalamazoo รัฐ Michigan ประเทศสหรัฐอเมริกา มีรายงานว่าผู้คนที่อาศัยอยู่รอบโรงงานกระดาษในรัศมี 5 ไมล์ (8 กิโลเมตร)  มีอาการโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น 2 -5 เท่า เทียบประพื้นที่รอบๆ ที่ไม่ได้อยู่ใกล้กับโรงงาน และบางรายเสียชีวิตด้วย พร้อมกับมีการรายงานว่าพื้นที่ละแวกนั้นมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ในทุกๆ วัน 

มองให้ไกลออกไปอีกสักหน่อย ผลิตแล้ว ใช้งานแล้ว สุดท้าย ‘ทิ้งที่ไหน’ เมื่อการรีไซเคิลไม่อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับกระดาษทุกชิ้นอย่างแน่นอน มันก็จะต้องมีพวกกลุ่ม ‘กระดาษใช้แล้ว’ ที่โดนทิ้งขว้างไป และไม่ได้นำกลับเข้าระบบเพื่อรีไซเคิลใหม่อีกครั้ง ข้อมูลจาก Eurostat บอกว่า กระดาษใช้แล้วพวกนี้ คือหนึ่งในขยะบ้านที่ใหญ่ที่สุด โดยในปี 2021 สหภาพยุโรปสร้างขยะบรรจุภัณฑ์ถึง 84 ล้านตัน และประมาณ 40% ของจำนวนนั้นคือกระดาษและกระดาษแข็ง เช่น กล่องใส่ของ กล่องไปรษณีย์หีบห่อขนม มากกว่าขยะกลุ่มพลาสติกถึง 2 เท่าด้วยกัน ท้ายสุดกระดาษทีใช้แล้วและไม่ได้นำไปจัดการต่อให้ถูกต้องก็จะกลายเป็นภูเขาขยะที่เราต้องหาทางจัดการต่อ

กระดาษปรับตัวให้เข้ากับโลก เพิ่มความยั่งยืนได้ดีกว่าอุตสาหกรรมอื่น

มาถึงตอนนี้มันก็น่าตั้งคำถามว่าสรุปใช้กระดาษดีกว่าจริงมั้ยนะ เพราะเราเคยเห็นการณรงค์ให้ใช้แทนถุงพลาสติก ซึ่งก็คงจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าแหละ เพราะพลาสติกสร้างจากพลังงานฟอสซิล แต่กระดาษเกิดขึ้นจากต้นไม้ที่ถ้าเป็นไม้ปลูกก็ดีกว่า แต่เมื่อมาดูข้อมูลไส้ในจริงๆ แล้ว กระดาษสักชิ้นก็ยังคงใช้ทรัพยากรธรรมชาติไปหลายอย่างอยู่ เพราะจริงๆ ทุกอย่างก็คงทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งหมดหมด สิ่งที่เราควรโฟกัสอาจจะไม่ใช่การหาว่าใครเป็นผู้ร้ายทำลายสิ่งแวดล้อมตัวจริง แต่อาจจะเป็นการต้องตระหนักอยู่ตลอดว่าทุกอย่างที่เราหยิบมาใช้นั้นมีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมอยู่ไม่มากก็น้อย การใช้งานควรใช้อย่างเต็มที่ ใช้ให้มันอย่างเต็มที่ก่อนจะทิ้งมันไป 

เพราะถึงแม้ว่าจะมีการใช้ระบบ E-Book เข้ามาเพิ่มมากขึ้น โรงเรียนอาจไม่ได้ใช้หนังสือเรียนเป็นเล่มมากเท่าเดิม แต่ก็ใช่ว่านวัตกรรมห้าพันปีของมนุษยชาติจะสูญหายไปได้ ยังมีอีกหลายวงการที่จำเป็นต้องใช้กระดาษเป็นหลัก เช่น สัญญาการค้า ธนาคาร ดังนั้นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นอาจจะเป็นนโยบายหรือมาตรการการจัดการกับระบบโรงงาน หรือการจัดการขยะกระดาษที่ใช้แล้วว่าจะต้องถูกนำไปรีไซเคิลท่าไหน หรือรูปแบบไหน ที่ไม่ทำลายทรัพยากรของโลกไปมากกว่านี้ 

ก็เลยอยากปิดท้ายด้วยข่าวดีที่ว่า อุตสาหกรรมกระดาษเป็นอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเข้ากับโลกสีเขียวมากขึ้นกว่าประเภทอื่นๆ ตัวอย่างคือ EU ข้อมูลปี 2022 บอกว่า สัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตเยื่อกระดาษเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด มากกว่าแก๊สธรรมชาติ และไฟฟ้า หรืออย่างของประเทศแคนาดา มองว่ากระบวนการที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลมากที่สุดคือ มลพิษจากการเผาไหม้จากหม้อไอน้ำที่ใช้ในการผลิตไอน้ำและไฟฟ้า และมลพิษจากกระบวนการต่างๆ เช่น เตาเผาปูนขาวที่ผลิตปัจจัยการผลิตสำหรับกระบวนการผลิตเยื่อและกระดาษ ดังนั้นแล้วสิ่งที่แคนาดาพยายามทำคือ การใช้ waste heat กลับมาใช้อีกรอบ ร่วมกับการใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ ในกระบวนการผลิต รวมถึงมีการให้เงินทุนอุดหนุนจากรัฐ ในโครงการลดคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย 

ในวันที่โลกต้องการความยั่งยืนมากขึ้น เราควรเริ่มมองกระดาษ ในฐานะวัตถุดิบที่ควรจัดการอย่างมีแผน รัฐไทยจึงควรให้ความสำคัญกับระบบการจัดการทรัพยากรอย่างรอบด้าน เพราะกระดาษแผ่นเดียวเชื่อมโยงไปถึงระบบเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของเราทุกคน

ที่มาและอ้างอิง : 

https://shorturl.at/R85oa

https://oec.world/en/profile/hs/paper-goods?selector1255id=tradeOption&selector1046id=2022&selector1699id=pctOption&selector1013id=2023

https://ec.europa.eu/eurostat/statistics-explained/index.php?title=Final_energy_consumption_in_industry_-_detailed_statistics#Energy_products_used_in_the_industry_sector

https://www.worldwildlife.org/industries/pulp-and-paper

https://www.thomasnet.com/insights/industry-highest-energy-use

https://shorturl.at/iRHAP

https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2667010021002249