บิลค่าไฟแพง คนรู้สึก งบค่าไฟในงบ ‘69 รัฐไทยเหมือนไม่รู้สึก

ปัญหาค่าไฟแพงที่บ้านเราเผชิญมาตลอดช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนออกมาอย่างต่อเนื่องผ่าน #ค่าไฟแพง ที่ติดเทรนด์อยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าไฟเฉลี่ยพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 4.72 บาทต่อหน่วย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทุกบ้านทั่วประเทศ หลายบ้านต้องปรับพฤติกรรม ใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด ไม่ให้กระเป๋าฉีก หรือโดนแม่บ่นเมื่อบิลค่าไฟมาถึง

ฝั่งภาคธุรกิจก็หนักหนาไม่แพ้กัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มองว่าค่าไฟกลายเป็นต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายกิจการต้องลดชั่วโมงการผลิต หรือปรับลดพนักงานเพื่อเอาตัวรอด ขณะที่บางโรงงานถึงขั้นพิจารณาย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ

สิ่งที่ภาครัฐพยายามทำและสื่อสารอย่างต่อเนื่อง คือ การออกนโยบายตรึงค่าไฟ เพื่อสร้างคะแนนนิยมและเคลมเป็นผลงาน แต่โจทย์ใหญ่กว่านั้น — อย่างการแก้ไขโครงสร้างต้นทุนค่าไฟที่แท้จริง — กลับไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนให้ประชาชนได้เห็น

เราเชื่อว่าทั้งประชาชนและภาคธุรกิจต่าง “รู้สึกได้” ถึงแรงกดดันของค่าไฟแพงในชีวิตประจำวัน และหลายคนก็อาจเริ่ม “หมดหวัง” กับการรอให้รัฐลงมือแก้ไขต้นตอของปัญหา จนต้องหันมาแก้ที่ตัวเอง—เปลี่ยนหลอดไฟ ลดการเปิดแอร์ ปิดสวิตช์ทุกครั้งที่เดินออกจากห้อง ขณะที่ภาครัฐยังคงเน้นมาตรการฉาบฉวย เราเลยอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า แล้ว “หน่วยงานรัฐเอง” ที่ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนในการจ่ายค่าไฟ รู้สึกถึงความแพงเหมือนพวกเราหรือเปล่า? หรือใช้ไฟกันอย่างไม่ทุกข์ร้อน?

เพื่อหาคำตอบ DataHatch เลยลองเปิดดูตัวเลขงบประมาณค่าไฟฟ้าของหน่วยงานราชการทั้งหมดในปีงบประมาณ 2569 แยกตามกระทรวง ว่าหน่วยงานแต่ละแห่งตั้งงบไว้เท่าไหร่  ปีนี้เราได้ข้อมูลจาก WeVis ที่รวบรวมข้อมูลจากสำนักงบประมาณมาอยู่ใน Google Sheet ให้ค้นและคำนวณง่ายสุด ๆ… กราบบบบบ 🙇‍♂️

งบประมาณค่าไฟฟ้ารัฐไทย รวมกว่า 8 พันล้านบาท ทั้งที่มีมาตรการประหยัด

จากข้อมูลของสำนักงบประมาณที่หน่วยงานราชการต่างๆ ยื่นของบประมาณในหมวดสาธารณูปโภค ในรายการของค่าไฟฟ้านั้น ภาพรวมค่าไฟฟ้าของหน่วยงานราชการไทยในปี 69 รวมอยู่ที่ 8,248,648,500  บาท เทียบกับการเสนอของบประมาณในปี 68 คือ 7,808,094,000 บาท คือ เพิ่มขึ้น 440 ล้านบาท หรือ ประมาณ 5.6%  

และหากย้อนไปดูว่า ภาครัฐพยายามจะทำอะไรกับค่าใช้จ่ายของตัวเองในเรื่องค่าไฟฟ้าบ้าง ก็พบว่าในปี 55 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีมติ ครม. ให้หน่วยงานราชการ ทุกหน่วยงานกำหนดเป้าหมายและมีมาตรการลดการใช้ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 10% ผลเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ผ่านไปอีก 10 ปี ในปี 65 รัฐบาลประยุทธ์ ก็มีมติ ครม. ให้หน่วยงานราชการลดการใช้ไฟฟ้าลง 20% และทำโปสเตอร์เผยแพร่โดยเขียนไว้ด้วยว่า “เพื่อลดภาระการใช้จ่ายและเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ภาคเอกชนและประชาชน” และเชื่อว่า ถ้าหน่วยงานภาครัฐสามารถลดการใช้พลังงานลงได้ตามเป้าหมาย 20% ในครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 65 คาดว่าจะช่วยประหยัดพลังงานคิดเป็นมูลค่ารวม 1,020 ล้านบาท

แม้ว่าจะมีมติจาก ครม. มาตลอด แต่ข้อมูลจากเว็บไซต์โครงการลดการใช้พลังงานในภาครัฐ (1) รายงานว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐ ไม่สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้เลย แถมใช้มากกว่าเดิมทุกปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 65 จนถึงปี 67 เพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ 1,133 ล้านหน่วย,  1,164 ล้านหน่วย และ 1,164 พันล้านหน่วย (ข้อมูลจากโครงการลดการใช้พลังงานในภาครัฐ กระทรวงพลังงาน) ตามลำดับ และต้องบอกอีกว่าข้อมูลนี้ มาจากหน่วยงานราชการมีรายงานครบถ้วน 10,261 หน่วยจากทั้งสิ้น 15,506 หน่วย แปลว่ามีหน่วยอีก 1 ใน 3 ที่ไม่ได้รายงานด้วยซ้ำ

‘กลาโหม’ แชมป์ใช้งบไฟฟ้าหนักสุด 

หน่วยงานที่ตั้งงบค่าไฟฟ้าไว้สูงสุดปีนี้ คือ กระทรวงกลาโหม ตั้งไว้ที่ 2,323 ล้านบาท หรือ เกือบ 30% ของงบค่าไฟทั้งหมดที่หน่วยงานราชการไทยทั้งประเทศตั้งเอาไว้

ในงบของกระทรวงกลาโหมที่ของบประมาณค่าไฟฟ้าไว้ 2,323 ล้านบาท เป็นของ กองทัพบก ถึง 50% รองลงมาเป็น กองทัพอากาศ 22.4% กองทัพเรือ 16.7% กองบัญชาการกองทัพไทย 7.7% และ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 3.1% ตามลำดับ

ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้ว่ากองทัพมี ค่ายทหาร สนามฝึก สนามบินทหาร คลังอาวุธ เรดาร์ตรวจการณ์ ฯลฯ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ หลายที่เปิดไฟทั้งวันทั้งคืน เครื่องมือยุทโธปกรณ์ก็ต้องใช้ไฟสูง และที่สำคัญ  หลายแห่งยังเป็นอาคารเก่าที่ไม่ได้ออกแบบมาให้ประหยัดพลังงานเหมือนอาคารยุคใหม่

แต่อีกส่วนที่เราแทบไม่มีข้อมูลชัดเจนเลย คือเรื่อง บ้านพักทหาร โดยเฉพาะ บ้านพักข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือ บ้านพักนายพล ที่มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย

ในแง่นี้ บ้านพักข้าราชการประจำการก็เป็นสวัสดิการตามปกติที่รัฐจัดหาให้ แต่สำหรับระดับสูงๆ แล้ว บ้านพักเหล่านี้กลับแทบไม่มีการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ทั้งจำนวนหลัง พื้นที่ใช้สอย หรือแม้แต่ค่าน้ำค่าไฟที่เบิกได้

สังคมรู้เพียงแค่ “มีอยู่” และ “มีไม่น้อย” แต่เรายังไม่เคยเห็นข้อมูลเชิงระบบว่า บ้านพักเหล่านี้บริหารจัดการยังไง ใช้ไฟมากน้อยแค่ไหน หรือมีมาตรการประหยัดพลังงานจริงจังแค่ไหน — เรื่องนี้จึงกลายเป็น พื้นที่มืด (blind spot) ของการใช้พลังงานในภาครัฐ ที่ประชาชนธรรมดาอย่างเราๆ ไม่สามารถเข้าถึงหรือมีสิทธิ์ตั้งคำถามได้ง่ายนัก

โจทย์ท้าทาย ‘เกษตรฯ’ พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการใช้ไฟ 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งงบค่าไฟฟ้าไว้ในปีงบประมาณ 2569 ที่ 846 ล้านบาท แม้จะมากเป็นอันดับสอง แต่ก็เป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงขนาดของภารกิจที่พวกเขาดูแล ทั้งระบบชลประทาน พื้นที่เกษตรกรรม คลังเก็บเมล็ดพันธุ์ สถานีวิจัยพืช ปศุสัตว์ และการประมงที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ หากเจาะลึกลงไปจะเห็นว่า งบค่าไฟฟ้าส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่สามหน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมชลประทาน (เกือบ 400 ล้านบาท) กรมประมง (ประมาณ 96 ล้านบาท) และ กรมปศุสัตว์ (ประมาณ 77 ล้านบาท) — ทั้งหมดนี้เป็นหน่วยงานที่ต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และมีภารกิจที่จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าไฟของกระทรวงเกษตรฯ สูง คือการมี สถานีสูบน้ำไฟฟ้า จำนวนมากกระจายอยู่ตามพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศ เครื่องสูบน้ำเหล่านี้ต้องทำงานเป็นประจำเพื่อรองรับฤดูเพาะปลูกและรักษาสภาพน้ำในระบบชลประทาน จึงเป็นต้นทุนพลังงานที่เลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าการใช้ไฟฟ้าสำหรับเครื่องสูบน้ำเพื่อการเกษตรจะอยู่ภายใต้ หมวดพิเศษ (ประเภทที่ 7) ซึ่งการไฟฟ้าคิดอัตราค่าไฟที่ต่ำกว่าปกติให้กับหน่วยราชการและกลุ่มเกษตรกรอยู่แล้ว แต่ด้วยปริมาณการใช้ที่กระจายและต่อเนื่องตลอดปี ตัวเลขค่าไฟรวมจึงยังคงสูงมาก นอกจากนี้ อาคารสำนักงานหลายแห่งของกระทรวงเกษตรฯ ยังตั้งอยู่ในเขตภูมิภาค ต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติในการเดินเครื่องระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ การมองตัวเลขค่าไฟของกระทรวงนี้ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของปริมาณการใช้พลังงาน แต่ยังสะท้อนภาพของการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ ที่ซ่อนอยู่ คือจะทำอย่างไรให้กระทรวงเกษตรฯ ลดการใช้พลังงานลงได้จริง ความท้าทายไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิค เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟหรือปรับเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำ แต่รวมถึงการออกแบบระบบบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม และการผลักดันการใช้ พลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์สูบน้ำ หรือการสร้าง smart grid ภาคเกษตร ที่ช่วยบริหารพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คำถามสำคัญคือ การลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในระบบงานเกษตรกรรมจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ในวันที่ภาระค่าไฟกำลังกลายเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับทุกภาคส่วนของประเทศ

‘มหาดไทย’ ใช้ไฟกระจายตัว ติดโซลาร์ให้ทั่ว ช่วยลดค่าไฟได้

กระทรวงมหาดไทย ตั้งงบค่าไฟฟ้าในปีงบประมาณ 2569 ไว้ที่ 713 ล้านบาท เป็นกระทรวงที่ใช้งบค่าไฟฟ้ามากเป็นอันดับสามของประเทศ สามหน่วยงานหลักที่ใช้งบค่าไฟมากที่สุด ได้แก่ กรมการปกครอง (คิดเป็นประมาณ 44% ของงบค่าไฟทั้งหมดของกระทรวงมหาดไทย) สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (ประมาณ 26%) และ กรมที่ดิน (ประมาณ 13%) รวมแล้วสามหน่วยงานนี้ใช้สัดส่วนงบค่าไฟฟ้ารวมกันถึง กว่า 80% ของค่าไฟฟ้าทั้งกระทรวง

ลักษณะเฉพาะของมหาดไทยคือ มีหน่วยบริการประชาชนกระจายอยู่ทั่วประเทศในระดับพื้นที่ ตั้งแต่สำนักงานอำเภอไปจนถึงสำนักงานที่ดิน รวมถึงศูนย์บริการต่าง ๆ ที่ต้องเปิดทำการในช่วงกลางวันเกือบทุกวัน หน่วยงานเหล่านี้มีลักษณะเป็นสำนักงานขนาดกลางถึงเล็ก แต่มีจำนวนมาก กระจายตัวไปตามจังหวัดและอำเภอกว่า 800 แห่ง ซึ่งเปิดไฟใช้งานหนักในช่วงเวลากลางวัน การลดภาระค่าไฟด้วยเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในหน่วยงานภูมิภาค อาจเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะหน่วยที่มีพื้นที่หลังคาพร้อมใช้งาน และมีพฤติกรรมการใช้ไฟช่วงกลางวันเป็นหลัก

อีกโจทย์หนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การเปิดเผยข้อมูลการใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ หากมีการเปิดเผยข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายหน่วยงานในแต่ละปีอย่างเป็นระบบ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้สังคมติดตามความพยายามลดใช้พลังงานของภาครัฐได้ชัดเจนขึ้น แต่ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันกันพัฒนาประสิทธิภาพภายในหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าการตั้งเป้าในเชิงนโยบายแบบกว้าง ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา

โจทย์ประหยัด ‘พลังงาน’ มีแค่ในกระดาษ ที่ขาดคือทำให้ดู

อันนี้ ไม่พูดถึงไม่ได้ครับ กระทรวงพลังงาน — หน่วยงานที่มีภารกิจดูแลเรื่องพลังงานของประเทศโดยตรง — ตั้งงบค่าไฟฟ้าในปีงบประมาณ 2569 ไว้ที่ 24.9 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบค่าไฟฟ้าของกระทรวงใหญ่อื่น ๆ ตัวเลขนี้ถือว่าค่อนข้างน้อย สะท้อนขนาดของกระทรวงที่เน้นงานด้านนโยบายและแผนมากกว่าการดำเนินงานภาคสนาม สำหรับหน่วยงานที่ใช้งบค่าไฟมากที่สุดคือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน — ซึ่งก็ย้อนแย้งตรงที่เป็นหน่วยงานซึ่งมีภารกิจโดยตรงในการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงาน — โดยใช้งบค่าไฟคิดเป็นมากกว่าครึ่งของงบค่าไฟฟ้าทั้งกระทรวง รองลงมาเป็น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ที่รับผิดชอบการบริหารจัดการและแผนด้านพลังงานของประเทศ

กระทรวงพลังงานมีโครงการ “ลดใช้พลังงานในภาครัฐ” ที่มุ่งผลักดันให้หน่วยงานราชการเป็นต้นแบบด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการวางแนวทาง ออกมาตรการ และส่งเสริมการติดตั้งระบบพลังงานหมุนเวียนในหน่วยงานรัฐ แต่ตัวเลขการใช้พลังงานในภาครัฐกลับยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงานเอง แม้จะมีภารกิจโดยตรงด้านการส่งเสริมพลังงานสะอาดและการอนุรักษ์พลังงาน แต่การลดการใช้ไฟฟ้าภายในหน่วยงานกลับยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมให้เห็นชัด

คำถามที่สำคัญจึงไม่ใช่แค่เรื่องการตั้งเป้านโยบาย แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือ การทำให้ดู ทำให้เห็นได้จริงในทางปฏิบัติ และอาจต้องเริ่มจากการเปิดเผยข้อมูลการใช้พลังงานของหน่วยงานรัฐอย่างโปร่งใสและสม่ำเสมอ เพื่อให้สาธารณะสามารถติดตาม ตรวจสอบ และร่วมผลักดันให้การใช้พลังงานของภาครัฐเปลี่ยนจากนโยบายบนกระดาษไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริงในทุกระดับ

งบค่าไฟรัฐ ต่ำกว่า 1% แต่ตัวเลขสำคัญไม่เท่าหลักคิด

ในปี 69 หน่วยงานราชการไทยตั้งงบประมาณค่าไฟฟ้าไว้รวมทั้งสิ้น 8,249 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.4% ของงบประมาณรวมทั้งหมด ฟังดูเหมือนเป็นตัวเลขเล็กน้อย แต่ในความเป็นจริง นี่คือเงินหลายพันล้านบาทที่รัฐจ่ายทุกปีเพื่อ “เปิดไฟ” ให้สำนักงานต่างๆ ทั่วประเทศ โดยกระทรวงที่ตั้งงบไฟฟ้ามากที่สุดคือ กลาโหม (2,323 ล้านบาท, 1.1% ของงบกระทรวง) ตามด้วย เกษตรฯ (846 ล้านบาท, 0.7%) และ มหาดไทย (713 ล้านบาท, 0.2%) ส่วนกระทรวงอื่นๆ อย่าง คลัง และ แรงงาน ใช้ไฟฟ้าเพียง 0.1% ของงบรวม — ตัวเลขเหล่านี้เมื่อมองเผินๆ อาจดูน้อย แต่ก็ไม่ได้สะท้อนถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเท่าไหร่นัก

ที่ผ่านมา หากเราตามหน้าข่าว จะพบว่า ภาครัฐมีแนวโน้มสร้างอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ต่อเนื่อง เริ่มจาก อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ใช้งบก่อสร้างกว่า 12,000 ล้านบาท พร้อมพื้นที่ใช้สอยมหาศาล และจ่ายค่าไฟฟ้าปีละเกือบ 200 ล้านบาท ตามมาด้วย อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) งบสร้าง 2,560 ล้านบาท ที่เพิ่งถล่มไป พร้อมแผนผังห้องประชุมสุดหรู และพื้นที่ “เป็นหน้าเป็นตา” ขององค์กร

นอกจากนี้ยังมีโครงการใหม่อย่าง ศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ใช้งบประมาณถึง 9,077 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการนานตั้งแต่ปี 63– ปี 71) และล่าสุดกับ ตึกใหม่ของกระทรวงคมนาคม ที่เสนอตั้งงบประมาณ 3,832 ล้านบาท — ทั้งหมดนี้สะท้อน “หลักคิด” เดิม: สร้างตึกใหญ่เพื่อเสริมภาพลักษณ์องค์กร แต่กลับละเลยภาระระยะยาว เช่น ค่าไฟฟ้า และ ค่าบำรุงรักษา ที่ต้องแบกไปอีกหลายสิบปี ในยุคที่ค่าไฟพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และภาษีประชาชนต้องถูกใช้อย่างคุ้มค่า คำถามสำคัญคือ ใหญ่แค่ไหนถึงจะพอดี? และ สะดวกสบายแค่ไหน เมื่อเทียบกับ “ความคุ้มค่า” และ “ความยั่งยืน”?

เพราะในวันที่ประชาชนต้องรัดเข็มขัดกับบิลค่าไฟที่สูงขึ้นทุกปี แต่รัฐยังคงเปิดไฟเต็ม แอร์ฉ่ำในอาคารขนาดใหญ่ และอนุมัติงบประมาณอย่างไม่รู้สึกรู้สา เราควรถามกลับว่า รัฐรู้สึกจริงหรือยัง ว่าทุกบาททุกสตางค์นั้นคือภาษีของประชาชน

และถ้ารัฐยังยืนยันว่าทุกอย่าง “คุ้มค่า” อย่างที่กล่าวอ้าง — การเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดคือ เปิดเผยข้อมูล การใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคของอาคารราชการทุกแห่ง ให้สาธารณะเข้าถึงได้ ตรวจสอบได้ — เพราะในเมื่อเงินทุกบาทมาจากประชาชน ประชาชนย่อมมีสิทธิ์รู้ ว่ารัฐกำลังใช้มันอย่างไร — และใช้มันด้วย ความรู้สึกไหน 

หมายเหตุ:

ข้อมูลค่าไฟฟ้าที่นำเสนอในบทความนี้ รวบรวมจาก Google Sheet ที่ WeVis จัดทำขึ้น โดยอ้างอิงและเทียบเคียงกับข้อมูลต้นทางจาก สำนักงบประมาณ ซึ่งอยู่ใน ฉบับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 (ร่าง พ.ร.บ.) ข้อมูลดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะหน่วยงานราชการส่วนกลาง ยังไม่รวม ค่าใช้จ่ายไฟฟ้าที่อาจถูกบันทึกในหมวดงบประมาณอื่นๆ และ ไม่รวม ข้อมูลของ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ หน่วยงานนอกงบประมาณ อื่นๆ ตัวเลขทั้งหมดจึงเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นจากเอกสารทางการ และอาจต่ำกว่าการใช้จ่ายจริงในภาพรวม

ที่มา:

https://e-report.energy.go.th/cpr67/rps_a.php
https://wevis.info/ 

https://www.facebook.com/share/p/18rsvQJTv1

https://www.bb.go.th/topic-detail.php?id=17756&mid=1061&catID=0

https://www.eppo.go.th/index.php/en/component/k2/item/17927-news-230365-01

https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1-l73MHfZL_wce9vH17QZSgKhzNbPG23X